“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 9 View
- อ่านต่อ
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบการออกระเบียบเปรียบเทียบความผิดปรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติการคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าสูงสุด 2 หมื่นบาท และให้สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล มีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมรับทราบแนวทาง Phuket Sandbox เปิดรับนักท่องเที่ยว 1 ก.ค. นี้
บ่ายวันนี้ (14 มิถุนายน 2564) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 6/2564 โดยมีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมทางไกล
นายอนุทินกล่าวว่า ในวันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้พิจารณา 4 ประเด็นสำคัญในการควบคุมโรคโควิด 19 ประเด็นแรก ได้รับทราบแนวทางการดำเนินการ Phuket Sandbox เปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่1 กรกฎาคม 2564 โดยมีเกณฑ์ดังนี้ 1.เน้นนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ – ปานกลาง 2.ได้รับวัคซีนครบถ้วนอย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มากับผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนได้ 3.มีเอกสารการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ผลไม่พบเชื้อไม่เกิน 72 ชั่วโมง 4.ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีก 3 ครั้งในประเทศไทย ได้แก่วันที่เดินทางมาถึง วันที่ 7 และ 14 โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา เดินทางถึงที่พักด้วยรถโรงแรมและรับการตรวจเชื้อ ไม่อนุญาตให้ออกนอกห้องจนกว่าผลการตรวจไม่พบเชื้อ จึงจะอนุญาตให้ท่องเที่ยวภายในจังหวัดภูเก็ตได้ เมื่อครบ 14 วันจึงจะเดินทางไปเที่ยวต่อยังจังหวัดอื่น โดยจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการ Phuket Sandbox เตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค มาตรการสถานที่ (มาตรฐาน SHA+) การป้องกันส่วนบุคคล สังคม การแพทย์และสาธารณสุข บุคลากรในการกำกับติดตาม และการสนับสนุนทรัพยากรอื่นๆ รวมถึงทำแผนรับมือ และแผนยกเลิกกิจการกรณีเกิดการระบาดโดยจะมีการติดตามผลเป็นระยะ โดยถือเป็นโครงการต้นแบบส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ศบค. เห็นชอบ
ประเด็นที่ 2 มีมติเห็นชอบมอบหมายให้สถานพยาบาลตามกฎหมายสถานพยาบาล คือ โรงพยาบาลเอกชน มีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย โดยให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ประเด็นที่ 3 เห็นชอบแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในการกำหนดระยะห่างของการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 และ 2 ให้ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และสามารถขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ในกรณีที่จำเป็น
และประเด็นที่ 4 คือ ความก้าวหน้าการเสนอร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ฉบับปรับปรุง และการออกระเบียบเปรียบเทียบความผิดฯ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค จะมีการเปรียบเทียบปรับในอัตราใหม่ ดังนี้ ครั้งที่ 1 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับมากกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และหากกระทำผิดครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับมากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 มากกว่า 6 ล้านโดส เพื่อให้ประชาชนได้กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ เศรษฐกิจประเทศกลับมาเดินหน้าเร็วที่สุด ตั้งแต่วันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2564 ได้มีการเริ่มฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด ฉีดได้ 2,087,603 โดส รวมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน ฉีดแล้ว 6.2 ล้านโดส และภายในปี 2565 รัฐบาลมีเป้าหมายการจัดหาและกระจายวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 150 ล้านโดส
******************************** 14 มิถุนายน 2564
******************************************