กระทรวงสาธารณสุขปรับ 4 มาตรการควบคุมโรค เพื่อธำรงรักษาระบบสาธารณสุข จัดหาวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า เร่งฉีดวัคซีน 2 กลุ่มเสี่ยง เฉพาะพื้นที่กทม.ให้ได้ 70% ในเดือนนี้ พร้อมเสนอ Work From Home ใส่หน้ากากที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

            วันนี้ (5 กรกฎาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหาร แถลงข่าวการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด 19 โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 6 พันราย ส่วนใหญ่ยังอยู่ใน กทม. และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากประชาชนที่เดินทางมาจาก กทม. มีลักษณะกระจายตัว ควบคุมดูแลได้

            "ที่น่าห่วงคือ กทม.ที่เป็นเมืองใหญ่ เมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ดูแลพื้นที่โดยตรง จึงเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง เช่น เปิดเตียง รพ.บุษราคัมเพิ่ม ดูแลผู้ป่วยอาการปานกลาง สีเหลือง 1,500 เตียง และสัปดาห์นี้ได้ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ เปิดเตียงไอซียูดูแลผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) รวมกันมากกว่า 100 เตียงทันที และประสานส่งต่อให้เข้ารับการดูแลรักษาทุกคน" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

            นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากใน กทม.และปริมณฑล กรมควบคุมโรคได้เสนอปรับมาตรการควบคุมโรคให้เหมาะสมใน 4 มาตรการ คือ 1.การค้นหาผู้ติดเชื้อ ดูแลรักษา แยกกัก และควบคุมโรค เน้นผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยรุนแรง 2.การจัดการเตียง มีการกักตัวดูแลรักษาที่บ้าน หากมีอาการมากขึ้นจะส่งต่อเข้ารักษา 3.มาตรการวัคซีน โดยจัดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ โดยคณะวิชาการจะพิจารณาว่าจะใช้วัคซีนตัวไหนแต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศเดินหน้าให้บริการประชาชนได้ รวมถึงเน้นฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค โดยวัคซีนที่จะได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ร้อยละ 80 จะฉีดให้ 2 กลุ่มนี้ เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และปรับจากการฉีดปูพรม มาฉีดกลุ่มเฉพาะเน้นควบคุมโรคในพื้นที่ระบาด และ 4.มาตรการทางสังคมและองค์กรก่อนเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่

            "การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การควบคุมโรค 4 มาตรการนั้น เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนร่วมกันดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อ ไม่นำเชื้อมาติดผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางที่บ้าน ใส่หน้ากาก ล้างมือ วัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็น และจะใช้มาตรการวัคซีนร่วมด้วย หากทำตามแผนจะทำให้การระบาดของโรคลดลงได้ มีปริมาณเตียงเพียงพอรับผู้ป่วย และพยายามให้ทุกคนในประเทศมีภูมิคุ้มกัน ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ กลับไปใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัล" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

            ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการควบคุมโรคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่มีการติดเชื้อไม่มาก จะเฝ้าระวังผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่ไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบ และมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง การสอบสวนโรค ค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อกักกันโรคตามความเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ ค้นหาเชิงรุกในชุมชนเข้มข้น ส่วน กทม.และปริมณฑล ช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ จะปรับมาตรการให้สอดคล้อง โดยเน้นปกป้องผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยอาการรุนแรง คือ 1.จัดทำฟาสต์แทร็กหรือทางด่วนสำหรับ 2 กลุ่มนี้ให้ได้รับการตรวจลำดับแรกๆ รักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 2.บุคคลกลุ่มอื่นจะปรับการตรวจการติดเชื้อไปจุดอื่น เช่น หน่วยตรวจเชิงรุก คลินิกชุมชน เป็นต้น  3.ปรับการสอบสวนควบคุมโรค เน้นไม่ให้เกิดกลุ่มก้อนใหญ่ (คลัสเตอร์) หาจุดเสี่ยงการระบาดใหญ่ให้ทันเวลา การสอบสวนเฉพาะราย (ไทม์ไลน์) ให้แต่ละจุดตรวจดำเนินการแทน และ 4.การควบคุมเชิงรุกในจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดการระบาดวงกว้าง (ซูเปอร์ สเปรดเดอร์) ทำมาตรการ Bubble and Seal ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว แคมป์ก่อสร้าง โรงงานสถานประกอบการ ตลาดสด ตลาดขนาดใหญ่ ชุมชนแออัด เรือนจำ สถานพินิจ แหล่งรวมตัวใหญ่ๆ เนอร์สซิ่ง แคร์ผู้สูงอายุ ร่วมกับทาง กทม.

            นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการวัคซีนนั้น เดือนกรกฎาคมนี้ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ล้านโดส จะกระจายทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2-2.5 ล้านโดส เน้นในผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยมีอาการรุนแรง โดยในพื้นที่ กทม.มีประมาณ 1.8 ล้านคน จะระดมฉีดให้ได้ร้อยละ 70 ภายใน 2 สัปดาห์ ปริมณฑลฉีดให้ครบในกรกฎาคมนี้ และจังหวัดอื่นฉีดภายในสิงหาคมนี้ ส่วนการฉีดเพื่อควบคุมการระบาดโดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่จะระบาดในวงกว้าง เช่น โรงงาน ตลาด เป็นต้น จะฉีดวัคซีนชุมชนโดยรอบเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง และกลุ่มที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง สำหรับการยกระดับมาตรการสังคมและองค์กร โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ต้องบังคับมาตรการ Work From Home ในสถานที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นหน่วยบริการป้องกันควบคุมโรค หรือรักษาพยาบาล และในสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ให้ได้ร้อยละ 70 และสื่อสารให้ประชาชนเพิ่มความเข้มข้นมาตรการส่วนบุคคล ประยุกต์หลักการ Bubble and Seal มาใช้กับตัวเองและครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อที่บ้านและที่ทำงาน จึงขอให้ใส่หน้ากากให้มากที่สุด ทั้งบ้านและที่ทำงาน งดกิจกรรมอื่นที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกัน และระมัดระวังการเดินทาง

          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นรายในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยวันที่ 4 มิถุนายนมีผู้ป่วยครองเตียง 19,430 ราย วันที่ 4 กรกฎาคม มีผู้ป่วยครองเตียง 28,247 ราย เพิ่มขึ้นทุกระดับความรุนแรง ทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยสีแดงเพิ่มจาก 657 ราย เป็น 1,130 ราย หรือต้องใช้เตียงไอซียูเพิ่มเท่าตัวใน 1 เดือน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจจาก 200 กว่ารายเป็นเกือบ 400 ราย บุคลากรด่านหน้ามีจำนวนเท่าเดิมแต่ภาระงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับมาตรการทางการแพทย์จะปรับระบบการรักษาโดยเน้นลดการเสียชีวิต ได้แก่ 1.การเพิ่มเตียงและเปิดโรงพยาบาลสนามผ่านการบูรณาการของ 5 เครือข่าย คือ กทม. กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลทหารตำรวจ  โดยเพิ่มเตียงในทุกระดับสี 2.ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการดำเนินการมาตรการ Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งเริ่มแล้วใน กทม.และปริมณฑล เฉพาะของโรงพยาบาลกรมการแพทย์ดูแลผู้ป่วย Home Isolation แล้วเกือบ 100 ราย และวันนี้จะหารือภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และเอกชนทำ Community Isolation

            “ที่ผ่านมาเราไม่อยากใช้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านและชุมชนถ้าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ตึงมือจริงๆ เพราะหากอาการแย่ลงที่บ้านจะไม่มีการดูแล และอาจแพร่เชื้อในบ้านและชุมชน หากแยกตัวเองไม่ได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้บุคลากรหน้างานมีความเหนื่อยล้าต้องนำมาตรการมาใช้ โดยแจกเครื่องมือปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และมีการ เทเลเมดิซีนติดตามอาการคนไข้ทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ถ้ามีอาการรุนแรงมีการจ่ายยาให้ที่บ้าน หากอาการแย่ลงจริงๆ จะมีการส่งต่อรักษา ส่วนการให้ผู้ป่วยอยู่บ้านไม่ออกไปซื้ออาหารข้างนอก ทาง สปสช.มีการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลซื้ออาหาร 3 มื้อส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งประกันสังคมอยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้สิทธิด้วย ตอนนี้เราพยายามปรับเปลี่ยนสถานการณ์เพื่อให้ระบบสาธารณสุขอยู่ได้ และบุคลากรไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไป” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว

************************************ 5 กรกฎาคม 2564



   
   


View 5196    05/07/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ