ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2568
- สำนักสารนิเทศ
- 126 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตโฟม พบสารเคมีที่กระทบกับระบบทางเดินหายใจ ส่งเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล รพ.สต.และ อสม.ในพื้นที่ดูแลประชาชนในศูนย์อพยพ 7 แห่ง พร้อมสั่งการ สคร.6 ชลบุรีคัดกรองสุขภาพประชาชนและให้ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ให้ความรู้การดูแลสุขภาพและป้องกันตนเอง รวมทั้งให้คำแนะนำด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุ
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 รับแจ้งเหตุจากสายด่วน 1669 มีเหตุระเบิดในโรงงานหมิงตี้เคมิคอล จำกัด ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เหตุระเบิดเวลา 03.20 น. เป็นโรงงานผลิตโฟมมีสารเคมี ภายในถัง 2,000 ตัน หลังได้รับแจ้งเหตุสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เปิดศูนย์บัญชาการร่วม ณ มูลนิธิร่วมกตัญญู ตั้งศูนย์คัดแยกผู้บาดเจ็บ ณ อบต.บางพลีใหญ่ พร้อมประสานหาข้อมูลสารเคมีในโรงงานที่เกิดเหตุและให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์หาความเป็นพิษของสารเคมี ข้อมูลจากศูนย์สั่งการ EMS รพ.สมุทรปราการ ณ เวลา 17.30 น. ยอดผู้บาดเจ็บรวม 39 ราย เสียชีวิต 1 ราย
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่งเจ้าหน้าที่อาชีวเวชกรรมและฝ่ายเวชกรรม รพ.บางพลี สสอ.บางพลี รพ.สต.และ อสม.ในพื้นที่เข้าดูแลประชาชน ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ดูแลสุขภาพและอำนวยความสะดวกที่ศูนย์อพยพ 7 แห่งเกือบ 2,000 คน ได้แก่ วัดบางพลีใหญ่กลาง,รร.คลองบางกระบือ ,รร.ปริญญานุสรณ์ฯ ,ศาลพ่อแหลม , วัดบางโฉลงใน ,วัดบางโฉลงนอกและวัดบางพลีใหญ่ใน และประชาสัมพันธ์การดูแลตนเองเบื้องต้นสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้โรงงานสารเคมี นอกจากนี้ได้สั่งการให้สำนักควบคุมป้องกันโรคที่6 ชลบุรี ลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้โรงงานสารเคมี ประสานศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่ให้ความรู้การดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองรวมทั้งให้คำแนะนำด้าน อนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุ
สำหรับสารเคมีที่พบเป็นสารสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นของเหลวใสและข้นเหนียว ถ้าสารมีอุณหภูมิ 31°C (88°F) ขึ้นไป จะติดไฟและกลายเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หากถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO)ถ้าหายใจเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และลำคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา ถ้าได้รับสารปริมาณสูงจะมีอาการชักและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ การหายใจเข้าไปในระยะ นาน ๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง ส่วน ผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ถ้าเข้าตา จะเคืองตา ถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนัง จะมีอาการเหมือนหายใจเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้งและแตก
********************************** 5 กรกฎาคม 2564
**********************************