รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดแผนรับมือผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจยุคเงินเฟ้อ สั่งการกรมสุขภาพจิตศึกษาผลกระทบสุขภาพจิต พร้อมทั้งให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลจิตเวชทุกจังหวัด เปิดคลินิกบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต และเปิดสายด่วน 1323 และ 1667 เป็นที่พึ่ง แนะวิธีคลายเครียดประชาชน 24 ชั่วโมง แนะประชาชนไทยทุกคนยึดหลักสัจธรรมว่า ทุกคนต้องเผชิญปัญหาและปัญหามีไว้ให้แก้ไข
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อปรับแผนรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นตาม ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้นกว่าเดิม ที่น่ากังวลในอนาคตอันใกล้ก็คือเรื่องสุขภาพจิตประชาชนที่ต้องปรับตัว โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตายที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ถี่ขึ้นในรอบ 2-3 เดือนมานี้ ซึ่งมีสถิติพบว่า ในทุกๆ ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน จะมีผู้กำลังฆ่าพยายามตัวตายอีก 10-20 คน จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 94 แห่ง ที่กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และโรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ สังกัดกรมสุขภาพจิต 16 แห่งทั่วประเทศ เปิดคลินิกคลายเครียดเพื่อบริการปรึกษาแนะนำประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น และให้กรมสุขภาพจิตเปิดสายด่วน 1323 และ 1667 บริการให้ความรู้ประชาชนในเรื่องวิธีการคลายเครียด คลายวิตกกังวล ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงฟรี
นายไชยา กล่าวต่อว่า อยากให้กำลังใจประชาชนทุกคนให้ต่อสู้ปัญหา โดยให้ยึดสัจธรรมที่ว่า ทุกคนต้องเผชิญกับปัญหา และปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับรายงานมาพบว่า ปัญหาจากวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจคงไม่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าและนำไปสู่การฆ่าตัวตายในทันที แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ไปแล้วประมาณ 2 ปี โดยจากการที่ประเทศไทยเคยมีวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แต่พบปัญหาสุขภาพจิตในปี 2542 ซึ่งมีสถิติฆ่าตัวตายสูงสุดประมาณ 17-18 รายต่อวัน ซึ่งปัจจุบันลดลงเหลือ 3,400 คนต่อปี หรือ 9 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ได้ให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการสำรวจความเครียดประชาชนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลของความเครียดจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะตกอยู่ในภาวะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด
ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดำเนินการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ที่ใช้กันหลักๆ ทั่วโลกขณะนี้มี 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.การจัดการความเครียด 2.การควบคุมความอ้วน และ 3.การออกกำลังกาย หากปฏิบัติได้ทั้งหมดนี้ ปัญหาสุขภาพทั่วโลกจะลดลง โดยการจัดการความเครียดที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับระดับโลกคือ การออกกำลังกาย ซึ่งมีผลให้การรักษาโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้การพึ่งยารักษาน้อยลง
ทั้งนี้ ผู้ที่เสี่ยงฆ่าตัวตายมักจะส่งสัญญาณให้ผู้ใกล้ชิดทราบ แต่ผู้ใกล้ชิดส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นความสำคัญ จึงไม่ได้ใส่ใจสัญญาณเตือน อาทิ การบ่นไม่อยากมีชีวิตอยู่ ฝากลูกหลานทำพินัยกรรม ยกมรดก ดื่มเหล้าหนักขึ้น บ่อยขึ้น หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน หรือ 3 เดือนที่ผ่านมาเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว ฉะนั้น ทุกครอบครัวจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังด้วย
************************17 มิถุนายน 2551
View 21
17/06/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ