“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 3 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเผยฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 24 ล้านโดส เข็มแรกครอบคลุม 25.5% ของประชากร ผลศึกษาวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิผลป้องกันติดเชื้อ การป่วยรุนแรง และเสียชีวิต แม้โควิด เปลี่ยนเป็นเดลตา เตรียมซื้อซิโนแวคอีก 12 ล้านโดสฉีดไขว้แอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงเวลารวดเร็ว
วันนี้ (17 สิงหาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค และนายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิด 19 และประสิทธิผลของวัคซีน โดยนายแพทย์เฉวตสรรกล่าวว่า ข้อมูลล่าสุด ถึง 16 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสม 24,100,631 โดส เป็นเข็มแรก 18,370,997 ราย คิดเป็น 25.5% ของประชากร เข็มสอง 5,228,157 ราย คิดเป็น 7.3% และเข็มสาม 501,477 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูล เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา พบการฉีดวัคซีนเข็มที่สามเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งหมด ส่วนข้อมูลการฉีดเข็มสามในประชาชนกลุ่มอื่นๆ เกิดจากความเคลื่อนของระบบในการดึงข้อมูล
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดซิโนแวคเป็นเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มสอง ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ที่ต้องเว้นระยะห่างถึง 3 เดือน เหมาะที่จะฉีดให้ครอบคลุมเป็นวงกว้างและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในเวลาอันรวดเร็ว จึงมีแผนจัดหาวัคซีนซิโนแวคสำหรับฉีดเป็นเข็มที่ 1 เพิ่มเติมอีก 12 ล้านโดส
ด้านนายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะทำงานการประเมินประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้จริงในประเทศไทยต่อการป้องกันโควิด 19 ในบุคลากรทางการแพทย์ จากฐานข้อมูลผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด กรมควบคุมโรค ระหว่าง 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2564 มีบุคลากรติดเชื้อจำนวน 3,901 คน นำมาทำการศึกษาโดยวิธีจับคู่เปรียบเทียบ 2,790 คน เป็นผู้ติดเชื้อที่ได้รับวัคซีนครบโดส 2,192 คน และผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับวัคซีน 598 คนพบว่า ประสิทธิผลของซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 98% ป้องกันการติดเชื้อ 72% เมื่อจำแนกเป็นรายเดือนซึ่งเริ่มพบเชื้อสายพันธุ์เดลตามากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา จนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมที่สัดส่วนเชื้อเดลตามากถึง 78.2% พบว่าแนวโน้มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อยังคงที่ ไม่ได้ต่ำกว่า 70% สำหรับประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขส่วนใหญ่ได้รับในสัดส่วนที่น้อยกว่า พบว่า ประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อสำหรับผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็มอย่างน้อย 14 วันอยู่ที่ 96% และรับเข็มเดียวอย่างน้อย 14 วันอยู่ที่ 88%
“วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยขณะนี้ ทั้งซิโนแวคครบ 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้าที่ฉีดเข็มเดียวหรือครบ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพช่วยลดทั้งการติดเชื้อ การป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต สามารถใช้ต่อไปได้ โดยปรับเป็นการฉีดสลับชนิดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับสูงในเวลารวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตยังค่อนข้างต่ำ จึงขอเชิญชวนทุกคนพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการเสียชีวิตจากโควิด 19” นายแพทย์ทวีทรัพย์กล่าว
*********************************** 17 สิงหาคม 2564
****************************