กระทรวงสาธารณสุข เผยความสำเร็จของโรงพยาบาลยโสธร มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง เป็นหน่วยงานเดียวของประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ได้เป็น 1 ใน 6 หน่วยงานที่เข้ารับรางวัลบริการสาธารณะ ประจำปี 2551 ประเภทพัฒนาการให้บริการ จากองค์การสหประชาชาติ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งจากสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติว่า ได้คัดเลือกให้โรงพยาบาลยโสธร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็น 1 ใน 6 หน่วยงานที่มีการพัฒนาการให้บริการประชาชนโดดเด่น ได้รับรางวัลบริการสาธารณะขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Public Service Awards) ประจำปี 2551 ประเภทพัฒนาการให้บริการ (Improving the delivery of service) นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติด้านบริการรางวัลแรกของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะนำคณะของโรงพยาบาลยโสธรเดินทางไปร่วมงาน ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 23 มิถุนายน 2551 นี้ “รางวัลบริการสาธารณะขององค์การสหประชาชาติ เป็นรางวัลใหญ่ระดับโลก มีประเทศต่างๆ ส่งผลงานเข้ารับการคัดเลือกกว่า 90 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงาน แต่มีเพียงโรงพยาบาลยโสธรแห่งเดียวเท่านั้นที่ผ่านการคัดเลือกจนถึงรอบสุดท้ายและได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคน ที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับกระทรวงและประเทศอย่างมาก จะมอบโล่เชิดชูเกียรติและยกให้เป็นโรงพยาบาลตัวอย่างในการศึกษาดูงานของโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป” นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว ด้านนายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร กล่าวว่า โรงพยาบาลยโสธรเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 370 เตียง มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 823 คน ประสบปัญหาการให้บริการเหมือนกับโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ อาทิ ผู้ป่วยแออัด ใช้เวลารับบริการนาน ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการมีความเครียด เกิดปัญหากระทบกระทั่งและมีข้อร้องเรียนตามมา จึงได้พัฒนาระบบบริการด่านหน้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2539 และประกาศเป็นนโยบายให้มีการลดขั้นตอนและระยะเวลาการบริการประชาชน ตามแนวทางของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยมีทีมประสานการดูแลผู้ป่วยนอก ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เวชกรรมสังคม นักเทคนิคการแพทย์ รังสีวิทยา นักกายภาพบำบัด จิตเวช นักสถิติ นักสุขศึกษา นักประชาสัมพันธ์ ทำการรวบรวมปัญหาต่างๆ มาวิเคราะห์สาเหตุ หาแนวทางปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อาทิ จัดบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ขยายเวลาบริการทั้งช่วงเช้าและเย็น ขยายบริการออกสู่ชุมชน จัดคนคอยดูแลห่วงใยระหว่างรอรับบริการ เพิ่มบริการด้านส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งเน้นพัฒนาบุคลากรสู่การบริการที่เป็นเลิศ นายแพทย์มนัส กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลพบว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถลดระยะเวลาบริการจากรายละเกือบ 6 ชั่วโมง ในปี 2547 เหลือเพียง 56 นาทีต่อราย ในปี 2550 ผู้รับบริการมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 73 เป็นร้อยละ 92 และข้อร้องเรียนบริการที่เดิมมีวันละ 2-3 ฉบับ กลายเป็นคำชม ส่งผลให้โรงพยาบาลได้รับรางวัลดีเด่นราชการส่วนภูมิภาค ประจำปี 2547 จาก ก.พ.ร. และเป็นที่ศึกษาดูงานของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม สำหรับรางวัลขององค์การสหประชาชาตินี้ นับเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจสูงสุดของโรงพยาบาล และเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกคนพัฒนาบริการเพื่อประชาชนต่อไป ************************************* 20 มิถุนายน 2551


   
   


View 12    20/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ