กระทรวงสาธารณสุข เตรียมต่อยอดมาตรฐานสปาไทยเพื่อสุขภาพ ขึ้นสู่ความหรูหราระดับสากล แพลทตินัม ทอง-เงิน บริการดี ปลอดภัย ลูกค้าพอใจสัมผัสกลิ่นไอธรรมชาติครบสูตร ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส คาดปีนี้จะให้ได้ร้อยละ 50 เผยแพร่ผ่านเวปไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เผยขณะนี้สปาไทยติดตลาดโลก ผู้ใช้บริการปีละกว่า 4 ล้านคน ร้อยละ 80 เป็นชาวต่างชาติ ปี 2550 สร้างรายได้ประเทศกว่าหมื่นล้านบาท
บ่ายวันนี้ (23 มิถุนายน 2551) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานการรับรองคุณภาพสถานประกอบการ สปาเพื่อสุขภาพ ระหว่างนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กับผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และประธานสมาพันธ์สปาไทย และแถลงข่าว โครงการยกระดับมาตรฐานสปาเพื่อสุขภาพของไทยสู่ระดับสากล
นายไชยา กล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานประกอบการธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพประเภทสปาของไทยขึ้นสู่ระดับสากล เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกตามยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียในด้านการบริการรักษาพยาบาล และการบริการส่งเสริมสุขภาพ ที่เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2546 ซึ่งประสบผลสำเร็จสูงมาก ขณะนี้สปาของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มีสปาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546 ทั้งหมด 5,104 แห่ง ประกอบด้วย สปาเพื่อสุขภาพ 1,164 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 3,230 แห่ง และนวดเพื่อเสริมสวย 710 แห่ง สร้างรายได้ประเทศปีละหลายพันล้านบาทและแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุดในปี 2550 มีผู้ใช้บริการธุรกิจสปาเกือบ 5 ล้านคน ร้อยละ 80 เป็นชาวต่างชาติ สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 10,000 ล้านบาท
นายไชยากล่าวต่อว่า ในการยกมาตรฐานสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะใช้วิธีพัฒนาต่อยอดให้สูงกว่าระดับมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข คือนอกจากมาตรฐานบริการที่ถูกต้องปลอดภัยตามหลักวิชาการแล้ว สปาเพื่อสุขภาพเป็นบริการเกี่ยวกับความสุขสบายของร่างกาย จะมุ่งเน้นการเพิ่มความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐานผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มาตรฐานสากลนี้ ผู้รับบริการจะได้รับบริการครบ 5 มิติคือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับรองแล้ว 1 ชุดมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นคณะกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นประธาน สปาเพื่อสุขภาพที่ผ่านการรับรองจะได้รับเครื่องหมายไทยสปาระดับโลก (Thai World Class Spa) มี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับแพลทตินัม (Platinum) ซึ่งเทียบชั้นสปาหรู 5 ดาว ระดับโกลด์ (Gold) และระดับซิลเวอร์ (Silver) มีอายุ 3 ปี ปีแรกนี้จะดำเนินการให้ได้ร้อยละ 50 ของสปาที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และจะให้เผยแพร่ทางเวปไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการได้
ด้านนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สปาเพื่อสุขภาพ มี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่มีที่พักและไม่มีที่พัก เกณฑ์รับรองมาตรฐานของสปาเพื่อสุขภาพในระดับสากล ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. การบริการ (Service Quality) 2. บุคลากรให้บริการในสปา (Skill Staff) 3.ผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ (Tool and Equipment) 4.การบริหารและการจัดการองค์กร (Organization and Management Quality) และ 5. สถานที่และสิ่งแวดล้อม (Ambient)
1. มาตรฐานการให้บริการ จะเน้นความครบถ้วน ถูกต้อง มีคุณภาพตามหลักวิชาการ และความพึงพอใจลูกค้า ประกอบด้วยการให้บริการต่าง ๆ ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อสุขภาพ เช่น การแช่ตัวในอ่างน้ำ แช่เท้า การบำบัดด้วยน้ำทะเล การออกกำลังกายในน้ำ การให้บริการนวดต่างๆ เช่นนวดไทย นวดชีวัตสึ นวดกดจุด การอบไอน้ำ อบสมุนไพร การประคบ การทำความสะอาดผิว การนวดหน้า บริการอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การทำสมาธิ การขจัดพิษหรือการทำดีท็อก (Detox Foliation) เป็นต้น การจัดเมนูบริการลูกค้า การจัดระบบดูแลความปลอดภัยลูกค้าระหว่างรับบริการ
2. มาตรฐานด้านบุคลากรในสปา ต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมจากเดิม ที่สำคัญ คือ ผู้บริหารสปา สามารถพูดภาษาไทยและต่างประเทศได้อย่างดี ส่วนพนักงานผู้ให้บริการ ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ เฉพาะด้าน มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง 3. มาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐานปลอดภัย ผ่านการรับรองจาก อย. มีเครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษ เช่น ซาวน่า เครื่องออกกำลังกาย มีระบบตรวจสอบมาตรฐานเครื่องมือสม่ำเสมอ 4. มาตรฐานด้านการบริหารและการจัดการองค์กร ทุกแห่งต้องมีคู่มือการทำงาน มีการพัฒนาบุคลากร และเน้นจริยธรรม จรรยาบรรณการประกอบธุรกิจ มาตรฐานที่ 5 ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม เน้นตกแต่งสถานที่ด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทย และเป็นธรรมชาติ สะอาด มีเสียงเพลงฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อให้ผู้รับบริการได้สัมผัสบริการ 5 มิติ คือรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส และมีเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้าเช่น ตู้เก็บของ มีห้องอาหารเพื่อสุขภาพและบริการเครื่องดื่มสุขภาพ บริการมุมพักผ่อน สถานที่ทำสมาธิ เป็นต้น
ทั้งนี้ สถานบริการสปาเพื่อสุขภาพทั้ง 3 ประเภทที่สนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อยื่นใบสมัคร ที่สำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลข
0-2590-1997 ต่อ 701-705 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง หรือแจ้งผ่านเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ www.thaispa.org หรือ www.thaispa.go.th
************** 23 มิถุนายน 2551
View 16
23/06/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ