โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนป้องกันอันตรายจากเครื่องใช้ไฟฟ้า สำรวจความเสี่ยงปลั๊กไฟในบ้านโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ชี้ร่างกายคนเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าที่ดี ในรอบ 3 ปีมานี้มีคนไทยบาดเจ็บเพราะถูกไฟฟ้าช็อต ฟ้าผ่า เฉลี่ยปีละ 11,060 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 548 ราย ส่วนใหญ่เกิดในบ้าน โดยพบเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เจ็บปีละ 6-10 ราย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากกระแสไฟฟ้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความปลอดภัยในระดับสูงแล้วก็ตาม ในประเทศไทยพบว่าการบาดเจ็บจากการถูกไฟฟ้าดูดหรือที่เรียกว่าถูกไฟช็อต เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องทำน้ำเย็น รวมถึงตู้โทรศัพท์ ตู้เอทีเอ็ม และการสัมผัสไฟฟ้าแรงสูง นอกจากนี้ ยังพบการบาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่า ขณะใช้โทรศัพท์มือถือช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง ในสวนสาธารณะกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากโทรศัพท์มีโลหะเป็นสื่อนำไฟฟ้า และมีรายงานการเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่าขณะใช้โทรศัพท์มือถืออีก 3 ราย ที่จีน เกาหลีและมาเลเซีย จากการเฝ้าระวังและวิเคราะห์สถานการณ์อันตรายจากกระแสไฟฟ้าในไทย ช่วงปี 2545-2549 โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบทั่วประเทศมีแนวโน้มการบาดเจ็บสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 9,128 รายในปี 2545 เป็น 12,692 ราย ในปี 2549 พบตลอดทั้งปี เฉลี่ยปีละ 11,060 ราย ซึ่งประมาณร้อยละ 5 บาดเจ็บรุนแรง และจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มจาก 493 ราย เป็น 673 ราย ในช่วงเดียวกัน เฉลี่ยปีละ 548 ราย สถานที่เกิดเหตุเกือบครึ่งเกิดขึ้นที่บ้านหรือในบริเวณบ้าน รองลงมาคือสถานที่ก่อสร้าง โรงงาน ร้อยละ 22 ตามถนนทางหลวง ร้อยละ 8 ในไร่นา ร้อยละ 6 สถานที่ขายสินค้า ร้อยละ 5 ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนใหญ่ ร้อยละ 81 เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4-5 เท่าตัว โดยร้อยละ 42 มีอายุระหว่าง 15-29 ปี และพบเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ถูกไฟฟ้าช็อตปีละ 6-10 ราย เสียชีวิตปีละ 1 ราย ซึ่งในเด็กเล็กพบว่ามักเกิดมาจากการกัด เคี้ยวสายไฟ หรือแหย่วัตถุโลหะ เข้าปลั๊กไฟ นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า การถูกไฟฟ้าดูด (Electric Shock) กระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านร่างกาย เนื่องจากร่างกายมนุษย์เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าที่ดี บาดแผลประเภทนี้หากมองภายนอกจะเห็นเพียงรอยผิวหนังไหม้เล็กน้อย แต่อาจพบอวัยวะภายในบาดเจ็บรุนแรง ได้แก่ หัวใจ กล้ามเนื้อ หรือสมอง โดยการบาดเจ็บมี 3 ลักษณะได้แก่ 1.ภาวะหัวใจล้มเหลว จากกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจตายได้ หากสัมผัสกระแสไฟแรงสูงจะส่งผลให้หัวใจ หยุดเต้น 2.กล้ามเนื้อ ระบบประสาทและเนื้อเยื่อต่างๆ ถูกทำลาย จากกระแสไฟฟ้าไปกดการทำงานของระบบประสาทส่วน ควบคุมการหายใจ และ 3.ผิวหนังเป็นบาดแผล มีรอยไหม้ ขึ้นอยู่กับปริมาณกระแสไฟฟ้า พื้นที่ผิวที่สัมผัสและเวลาที่สัมผัส ในการป้องกันอันตายจากการถูกไฟฟ้าซ็อต ประชาชนควรดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ปลั๊กไฟ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ควรย้ายปลั๊กไฟให้อยู่ในที่สูง บ้านที่มีเด็กเล็กต้องดูแลให้ห่างมือเด็ก และขณะร่างกายเปียก เช่น มือ เท้าเปียก ไม่ควรแตะต้องอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะหากอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุด อาจถูกไฟฟ้าดูดอย่างรุนแรง ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมภายในบ้าน หากจำเป็นต้องใช้ไฟ ให้ตัดวงจรส่วนที่น้ำท่วมออก ที่สำคัญขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่ควรอยู่กลางแจ้ง และไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือหรือพกพาในที่แจ้ง เนื่องจากอาจถูกฟ้าผ่าได้ ส่วนการช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟดูด ขั้นแรกต้องปิดสวิทช์เพื่อตัดวงจรไฟฟ้าก่อน ไม่ควรใช้มือเปล่าจับผู้ถูกไฟดูดโดยตรง ให้ใช้ผ้าคล้องออกมาก่อนทำการช่วยชีวิตขั้นต้น แต่หากเป็นกระแสไฟแรงสูง ไม่ควรเข้าใกล้ นายแพทย์สุพรรณ กล่าวในตอนท้าย ***************************** 24 มิถุนายน 2551


   
   


View 15    24/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ