รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งเจ้าหน้าที่กองการประกอบโรคศิลปะ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนย่านปทุมที่นำน้ำกรดรักษาหูดมาหยอดให้เด็กวัย 2 ขวบ ชี้ปฏิบัติงานสะเพร่า มีโทษปรับ 10,000 บาท พร้อมเร่งจัดระเบียบมาตรฐานป้องกันความเสี่ยง ในโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ คุ้มครองความปลอดภัยประชาชน จากกรณีที่นางจันทรา ปั้นสิน อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33/3 หมู่ 8 ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้พาบุตรชายคือเด็กชายธนกร ปั้นสิน หรือน้องเฟรม อายุ 2 ขวบ เข้าไปรักษาเพื่อผ่าฝีที่ใต้ตา ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2551 ระหว่างที่แพทย์นำตัวน้องเฟรมเข้าห้องผ่าตัด พยาบาลได้หยอดยาสลบขวดที่ 2 ให้ผิด โดยนำน้ำกรด ซึ่งใช้สำหรับหยอดรักษาหูด มาหยอดให้ เพื่อคลายความเจ็บปวด ทำให้มีรอยแดงไหม้เป็นทางยาวที่บริเวณปาก หลังจากนั้น แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ช่วยกันล้างน้ำกรดออก และทางโรงพยาบาลจะส่งตัวน้องเฟรมไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อส่องกล้องดูการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน ต่อไปนั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้(25 มิถุนายน 2551)นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าได้สั่งการให้กองการประกอบโรคศิลปะ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ไปตรวจสอบมาตรฐานทั้งสถานที่ บุคลากรของโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นต้นเหตุ เป็นการด่วน เพื่อให้ได้มาตรฐานตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 “จากการประเมินข้อมูลที่ปรากฏ แปลกใจว่าน้ำกรดไปอยู่คู่กับยาสลบได้อย่างไร สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติงานที่สะเพร่า ยาอันตรายควรเก็บแยกไว้ต่างหากและต้องใช้อย่างระมัดระวัง” นายไชยากล่าว ทางด้านนายแพทย์ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ 3 คนไปตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนในวันนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี โดยจะดูทั้งมาตรฐานสถานที่ ความสะอาด และความปลอดภัย ถ้าไม่ได้มาตรฐานเกี่ยวกับความสะอาด และความปลอดภัย จะมีโทษปรับ 10,000 บาท ซึ่งตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้บริการในสถานพยาบาล ต้องเป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น ห้ามนำ ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาให้บริการอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติงานของบุคลากรแพทย์ พยาบาลนั้นจะประสานส่งให้สภาวิชาชีพคือแพทยสภา และสภาการพยาบาล ดำเนินการตรวจสอบต่อไป นายแพทย์ธารากล่าวต่อว่า โดยทั่วไป ระบบการจัดเก็บยา ของสถานพยาบาลต่างๆทุกแห่งไม่ว่ารัฐบาลหรือเอกชน ต้องแยกเก็บให้ชัดเจน ระหว่างยาที่ใช้ภายนอก ยารับประทาน ยาอันตราย ต้องมีป้าย ฉลากติด เห็นได้ชัดเจน ผู้ใช้ต้องมีความรู้ และสถานพยาบาลทุกแห่งต้องมีระบบบริหารป้องกันความเสี่ยงจากการหยิบยาผิด ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้ป่วย เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบระบบการดำเนินงานของโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย ทั้งนี้ กองการประกอบโรคศิลปะ จะจัดอบรมสัมมนาโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งมี 354 แห่ง ในเรื่องการจัดระบบมาตรฐานบริการป้องกันความเสี่ยงในปลายปีนี้ ให้มีระบบเดียวกัน คุ้มครองความปลอดภัยประชาชนมากขึ้น มิถุนายน ***************** 25 มิถุนายน 2551


   
   


View 13    25/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ