กระทรวงสาธารณสุขย้ำศูนย์อพยพเข้มมาตรการโควิด ป้องกันเกิดคลัสเตอร์ช่วงน้ำท่วม แนะจัดการสิ่งแวดล้อม เว้นระยะห่าง ลดความแออัด ประเมินอาการตนเอง ทั้งผู้อพยพและผู้ให้การช่วยเหลือ หากมีอาการทางเดินหายใจให้รีบแจ้งทันที ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา งดจับกลุ่มรวมตัว พร้อมแนะ 10 เรื่องเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม, 6 วิธีปฏิบัติเมื่อน้ำท่วม, 7 ข้อควรระวัง และ 8 สิ่งควรทำหลังน้ำลด

         วันนี้ (28 กันยายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการปฏิบัติตัวช่วงน้ำท่วมกับการป้องกันโควิด 19  ว่า สถานการณ์อุทกภัยจากพายุเตี้ยนหมู่ขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบใน 30 จังหวัด 145 อำเภอ 548 ตำบล  2,401 หมู่บ้าน รวม 71,093 ครัวเรือน พบเสียชีวิต 6 ราย และสูญหาย 2 ราย ภาพรวมแบ่งออกเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้น น้ำท่วมทรงตัว และน้ำท่วมลดลง โดยมีข้อแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ ดังนี้

         10 เรื่องเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม ได้แก่ 1.ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด 2.ย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง 3.รู้เบอร์โทรฉุกเฉิน  4.เรียนรู้เส้นทางอพยพไปที่ปลอดภัยใกล้บ้าน  5.เตรียมโทรศัพท์มือถือ เครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ทำอาหาร อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค และอุปกรณ์สิ่งจำเป็น  6.เตรียมกระสอบทรายอุดช่องว่างที่น้ำจะไหลเข้าบ้าน  7.นำยานพาหนะไปจอดในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง  8.ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ยกเบรกเกอร์ ปิดบ้านให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน 9.เขียนที่ฟิวส์หรือเบรกเกอร์ว่าตัวใดควบคุมการใช้ไฟฟ้าจุดใด และ 10.หากน้ำท่วมฉับพลันไม่ควรขับรถฝ่าทางน้ำหลาก ให้ออกจากรถและไปอยู่ในที่สูงทันที

         6 วิธีปฏิบัติตัวระหว่างน้ำท่วม ได้แก่ 1.ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อน้ำท่วมบ้านทันที 2.หลีกเลี่ยงใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ  3.ระวังสัตว์อันตราย เช่น งู ตะขาบ ที่อาจจะหนีน้ำเข้ามาในบ้าน 4.ระวังแก๊สรั่ว 5.ทำความสะอาดสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ ห้ามบริโภคทุกสิ่งที่สัมผัสน้ำ และ 6.ขับถ่ายถูกสุขาภิบาล โดยใช้ส้วมเฉพาะกิจ เช่น ส้วมเก้าอี้พลาสติก ส้วมถังพลาสติก หรือส้วมกล่องกระดาษ หลังขับถ่ายเสร็จแล้วใช้ปูนขาวหรือขี้เถ้าทำลายเชื้อ มัดถุงให้แน่นเพื่อป้องกันแพร่กระจาย รวบรวมไปรอกำจัด

         7 ข้อควรระวังช่วงน้ำท่วม ได้แก่ 1.ไม่เดินไปในเส้นทางน้ำหลาก เพราะอาจถูกน้ำพัดพาสูญหาย 2.ไม่ควรขี่จักรยานลุยน้ำ เพราะอาจมีหลุมบ่อที่มองไม่เห็น 3.ระวังสัตว์มีพิษ 4.ระวังการใช้เตา 5.สวมรองเท้าบูทหรือวัสดุป้องกันเวลาเดินย่ำน้ำ ลดโอกาสถูกของมีคมบาด หรือเชื้อโรคมากับน้ำเข้าไปในบาดแผลหรือโรคฉี่หนู 6.ไม่ควรเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ และ 7.ระวังแก๊สรั่ว

         และ 8 สิ่งที่ควรทำหลังน้ำลด ได้แก่ 1.ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหลังกลับเข้าบ้าน  2.สำรวจความเสียหายโครงสร้างบ้านและบริเวณโดยรอบ เพื่อความปลอดภัยและซ่อมแซม 3.เตรียมการก่อนทำความสะอาดบ้าน ได้แก่ อุปกรณ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง รองเท้ายาง ฯลฯ  4.ดูแลปรับปรุงห้องครัว ขัดล้างขจัดคราบเชื้อรา  5.ทำความสะอาดทันทีหลังน้ำลดจะขจัดคราบได้โดยง่าย 6.ดูแลปรับปรุงห้องส้วม หากส้วมเต็มหรืออุดตันใช้นำน้ำหมักชีวภาพราดลงคอห่านหรือโถส้วม หากแก้ไขไม่ได้ให้ช่างสุขภัณฑ์มาดำเนินการ 7.ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้าซักให้สะอาดผึ่งให้แห้ง และ 8.คัดแยกขยะ

    นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า โอกาสแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงน้ำท่วม คือ การรวมตัวกันของผู้อพยพที่ศูนย์พักพิง ดังนั้น ผู้จัดการหรือควบคุมดูแลศูนย์พักพิงต้องดำเนินมาตรการป้องกันโควิด 2 ประการ คือ 1.จัดการสิ่งเแวดล้อม สุขลักษณะ สุขอนามัยและสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม โรคที่มากับอาหารและน้ำ และโรคโควิด เน้นทำความสะอาดพื้นผิว จัดระบบถ่ายเทอากาศ จัดการไม่ให้เกิดความแออัด และ 2. จัดการให้ผู้คนในศูนย์อพยพมีความปลอดภัย โดยผู้อพยพและผู้ให้การช่วยเหลือควรประเมินตนเอง หากมีอาการทางเดินหายใจให้รีบแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ให้การช่วยเหลือควรหยุดการไปช่วยผู้ประสบภัยทันที นอกจากนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ บ่อยๆ ซึ่งป้องกันทั้งโควิดและโรคอื่นๆ หลีกเลี่ยงสัมผัสใบหน้า ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน รับประทานอาหารสุกร้อน ไม่รวมกลุ่มรับประทานหรือจับกลุ่มพูดคุย สิ่งของบริจาคต้องมีความสะอาด หากดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคจะลดความเสี่ยงและโอกาสเกิดคลัสเตอร์ศูนย์พักพิง

         ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการรับมือภาวะน้ำท่วม 4 ประการ คือ 1.สถานพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมให้บริการหรือนำส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาลอื่นที่ปลอดภัยและพร้อมมากกว่าหากให้บริการไม่ได้  2.ปรับการจัดบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 3.ดูแลกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังและติดเตียง ในพื้นที่ยากลำบากในการเข้าถึง โดยอาศัยทีมหมอครอบครัว อาสาสมัคร ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และ 4.สื่อสารสร้างความรอบรู้ จัดเตรียมให้บริการในเรื่องสุขอนามัย สุขาภิบาล และโรคที่มากับน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมมาแล้วผ่านไป สิ่งสำคัญคือการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตนเองเพื่อรับมือกับภัยนี้ เมื่อน้ำผ่านไปก็ฟื้นฟูกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ

 

 *********************************** 28 กันยายน 2564

 

 



   
   


View 1677    28/09/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ