นายกฯ ห่วงใย "น้ำท่วม" 5 จังหวัดภาคใต้ กำชับ สธ.ดูแลผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกาย-จิต เน้นกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด
- สำนักสารนิเทศ
- 43 View
- อ่านต่อ
เขตสุขภาพที่ 9 เพิ่มศักยภาพบริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาค ให้บริการได้หลายรูปแบบ ประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง ลดระยะเวลารอคอย ลดการเดินทางไปรักษานอกเขตสุขภาพ
วันนี้ (1 ตุลาคม 2564) ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีเปิดอาคารฉายรังสีอุโมงค์หมุน ให้บริการด้วยเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาค (Linac) เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในเขตสุขภาพที่ 9
นายอนุทินกล่าวว่า ช่วง 5 ปีล่าสุด เขตสุขภาพที่ 9 มีแนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่สูงขึ้น ในปี 2563 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึง 9,850 ราย และแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการฉายรังสีประมาณ 2,000 ราย โดยส่วนใหญ่ส่งเข้ารับการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ดังนั้นจึงได้จัดหาเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบองค์รวมในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ สามารถฉายรังสีได้ทั้งแบบ 3 มิติ แบบจำกัดความเข้มลำรังสี (IMRT) และแบบแปรความเข้มเชิงปริมาตร (VMAT) ตรวจสอบความแม่นยำในการฉายรังสีได้อย่างละเอียดด้วยระบบภาพนำวิถีชนิด kv-cone beam CT ซึ่งเป็น 1 ใน 7 เครื่องของประเทศไทย ให้บริการฉายรังสีแก่ผู้ป่วยได้ถึงวันละ 60 ราย ศักยภาพในการรักษาเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกในการรักษา ไม่ต้องรอคิวนาน ที่สำคัญไม่ต้องส่งผู้ป่วยออกไปรักษานอกเขตพื้นที่
“เครื่องฉายรังสีอุโมงค์หมุนอยู่ในโครงการ cancer anywhere ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ โดยนำร่องในเขตสุขภาพที่ 9 ช่วยให้ประชาชนและผู้ป่วยอุ่นใจในการรับการรักษาใกล้บ้าน ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ทุกเขตสุขภาพนำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป”นายอนุทินกล่าว
นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และคณะ ยังได้ติดตามการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพนสูง เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของประชาชน โดยข้อมูลล่าสุดจังหวัดนครราชสีมาฉีดวัคซีนครอบคลุมแล้วร้อยละ 49.68 จากนั้นลงพื้นที่ มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนและผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่วัดหมื่นไวย อ.เมือง ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ประสบอุทกภัย 19 อำเภอ 10,586 ครัวเรือน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและให้ความช่วยเหลือสนับสนุน โดยออกให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เยี่ยมบ้านประเมินสุขภาพจิต ดูแลกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง
*********************************** 1 ตุลาคม 2564