กระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางประจำปี ครั้งที่ 36 น้ำหนักรวมกว่า 15 ตัน มูลค่ากว่า 10,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2 เท่าตัว ยาบ้าสูงสุด เผยผลการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพติดทุกระบบ รอบ 7 เดือนปีนี้ บำบัดไปแล้วเกือบ 60,000 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง 9 เท่าตัว พบเสพยาบ้าสูงสุด โดยมีผู้ติดชนิดรุนแรงร้อยละ 2 พร้อมเปิดสายด่วน 1165 บริการปรึกษาผู้เสพและครอบครัวที่มีปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง วันนี้ (26 มิถุนายน 2551) เวลา 10.30 น. นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดของกลาง ครั้งที่ 36 ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ทุกปี โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆร่วมพิธีด้วย ยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายในครั้งนี้ น้ำหนักรวม 4,377.62 กิโลกรัม จากทั้งหมด 2,915 คดี รวมมูลค่า 10,482 ล้านบาท ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า จำนวน 2,913.32 กิโลกรัม ประมาณ 32 ล้านเม็ด มูลค่าประมาณ 9,711 ล้านบาท เฮโรอีน 1,133.62 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 736 ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี่หรือยาอี 7.21 กิโลกรัม (ประมาณ 28,827 เม็ด) มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท โคเคน 2.27 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท เคตามีน 22.26 กิโลกรัม (ประมาณ 2,226 ขวด) มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท โคเดอีน 281.19 กิโลกรัม (ประมาณ 216 ลิตร) มูลค่าประมาณ 518,400 บาท ฝิ่น 12.10 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 272,242 บาท เป็นต้น ในการเผาครั้งนี้มีของกลางที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ได้แก่ วัตถุที่ ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารระเหยที่เป็นของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ที่สถานตรวจพิสูจน์ทั่วประเทศ นำมาร่วมเผาทำลายด้วยน้ำหนักทั้งของกลางและหีบห่อรวม 8,190.83 กิโลกรัม และกัญชา 3,800 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 38 ล้านบาท รวมทั้งหมดน้ำหนักกว่า 15 ตัน ขณะนี้ยังมียาเสพติดของกลางเก็บรักษาที่คลังยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเนื่องจาดคดียังไม่สิ้นสุดอีก 18,200 กิโลกรัม ในการเผาทำลายยาเสพติด ใช้วิธีที่เรียกว่า ไพโรไลติก อินซินเนอเรชั่น (Pyrolytic Incineration) เป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 850 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิด สลายตัว กลายเป็นผงเถ้าถ่านทั้งหมด ภายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด นายไชยา กล่าวว่า ยาเสพติดเป็นภัยร้ายแรงที่รัฐบาลไทยมุ่งเร่งแก้ไข ขจัดให้หมดไป ซึ่งทุกครอบครัวไม่ต้องการให้บุตรหลานติดยาเสพติด เนื่องจากยาเสพติดมีแต่ผลเสียต่อร่างกาย ทำลายอวัยวะต่างๆในร่างกาย โดยเฉพาะสมอง สติปัญญา ไม่สามารถฟื้นฟูกลับสู่ปกติได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อผู้ติดยาเสพติด มีความต้องการเสพยา มักจะทำร้ายทั้งพ่อแม่พี่น้อง คนรอบข้าง จึงต้องร่วมมือกันขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดิน คาดว่าขณะนี้มีผู้ใช้สารเสพติดทุกประเภทประมาณ 2 แสนคน ในด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดทุกชนิด ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นผู้ป่วยต้องให้การบำบัดรักษา ขณะนี้สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดคลินิกบำบัดฟื้นฟู เพื่อให้ผู้เสพได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด ในภาพรวมมีสถานบำบัดทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 5,628 แห่ง ผลการบำบัดในรอบ 7 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 ถึง 30 เมษายน 2551 มีผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทุกระบบทั้งหมด 59,284 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดยาบ้ามากที่สุดร้อยละ 79 กัญชาร้อยละ 8 สารระเหยร้อยละ 4 ฝิ่น ร้อยละ 3 เฮโรอีนร้อยละ 2 เป็นชายมากกว่าหญิง 9 เท่าตัว ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มผู้เสพพบว่ามากกว่าครึ่งเป็นผู้เสพ อีกร้อยละ 40 เสพติดแล้ว และอีกร้อยละ 2 เป็นเสพติดอย่างรุนแรง ซึ่งเพิ่มจากปี 2549 ซึ่งกลุ่มนี้มีไม่ถึงร้อยละ 2 กลุ่มอายุที่พบมากสุดคือ 18-24 ปีร้อยละ 38 รองลงมาอายุ 25-29 ปีร้อยละ 22 อายุ 30-34 ปีร้อยละ 14 อายุ 7-17 ปีร้อยละ 12 เมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ 1 ใน 3 ว่างงาน รองลงมามีอาชีพรับจ้างร้อยละ 25 เกษตรกรร้อยละ 9 และนักเรียนร้อยละ 8 อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังได้มอบให้สถาบันธัญญารักษ์ เปิดสายด่วนบริการปรึกษาปัญหายาเสพติดทางหมายเลข 1165 ทั้งระบบอัตโนมัติ และการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการคำปรึกษา สถานที่บำบัดรักษาและข้อมูลความรุนแรงของยาเสพติด ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ตุลาคม 2550 – พฤษภาคม 2551 มีผู้ใช้บริการ 3,014 ราย เฉลี่ยวันละ 13 ราย ผู้ใช้บริการมากที่สุดคือ ผู้ติดยาเสพติดร้อยละ 21 รองลงมาคือ มารดาร้อยละ 19 พี่ร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นพ่อและน้องผู้เสพติด การบริการที่ปรึกษามากที่สุดได้แก่ การขอทราบข้อมูลการบำบัด ค่าใช้จ่าย การขอคำปรึกษา สถานที่บำบัด การแจ้งเบาะแสยาเสพติด ************************** 26 มิถุนายน 2551


   
   


View 13    26/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ