สาธารณสุขเตือนประชาชน ห้ามกินใบแก่และฝักแก่ของมันแกว อย่างเด็ดขาด ชี้ในเมล็ดมันแกวแก่ มีสารพิษหลายชนิด มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง พิษรุนแรง ทำลายตับ ไต ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ในรอบ 4 ปีนี้ มีรายงาน ผู้ได้รับพิษเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 9 ราย เสียชีวิต 3 ราย ย้ำส่วนของมันแกวที่กินได้ คือหัว ใบอ่อนและฝักอ่อนเท่านั้น
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการรับประทานหรือสัมผัสพิษพืชมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากความไม่รู้พิษภัยของพืชพิษต่างๆ หรือขาดความระมัดระวังในการนำมารับประทานที่ไม่ถูกวิธี ส่วนใหญ่พืชที่รับประทานมักเกิดพิษ ได้แก่เห็ดพิษ มะกล่ำตาแดง เม็ดสบู่ดำ เป็นต้น ตั้งแต่พ.ศ. 2548-2551 กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงาน มีประชาชนได้รับพิษจากการกินเมล็ดมันแกว จำนวน 9 ราย พบที่จังหวัดเชียงราย 1 ราย ศรีสะเกษ 7 ราย และล่าสุดที่จังหวัดเลย 1 ราย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ทั้งหมดนี้แพทย์ช่วยชีวิตไว้ได้ 6 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยเป็นเด็กอายุ 2 ขวบ 1 ราย อายุ 93 ปี 1 ราย และอายุ 59 ปี 1 ราย
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ส่วนของมันแกวที่รับประทานได้ ไม่มีพิษ คือ หัว ใบอ่อน และฝักอ่อน โดยหัวมันแกวสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่นแกงส้ม ทำไส้ซาลาเปา และทำทับทิมกรอบ ส่วนฝักอ่อนนำมาต้มจิ้มน้ำพริกได้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมนำฝัก และเมล็ดอ่อน มารับประทานกับส้มตำ แต่เมื่อใบแก่ ฝักแก่แล้ว จะเป็นพิษ กินไม่ได้ โดยในเมล็ดมันแกว มีสารพิษได้แก่ โรเทโนน (Rotenone) เพซิไรชิน(Pachyrrhizin) มีฤทธิ์ฆ่าแมลงหลายชนิด และยังพบสารซาโปนิน (Soponin) สามารถละลายน้ำได้ เป็นพิษต่อปลา ทำให้ปลาตาย ส่วนในใบแก่ของมันแกว มีสารพิษที่มีชื่อว่าเพชี่ไรซิด(Pachyrrhizid)
จากการศึกษาพิษของสารโรเทโนน พบว่าถ้ารับประทานเข้าไป จะระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และจะทำลายตับ ไต กระเพาะอาหาร ทำให้ลำไส้อักเสบ รายที่เป็นรุนแรงอาจมีปัญหาระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบไหลเวียนผิดปกติทำให้ชักได้ สารนี้หากสูดดมเข้าไป พิษจะรุนแรงกว่า คือจะกดการหายใจ เสียชีวิตได้ โดยทั่วไปชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะนำเมล็ดแก่กับฝักแก่ของมันแกว มาบดเพื่อทำเป็นยากำจัดศัตรูพืช
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในการช่วยเหลือผู้ที่เกิดอาการพิษจากเมล็ดมันแกวเบื้องต้น ให้ดื่มนมและไข่ขาว ทำให้อาเจียน เพื่อกำจัดเศษพิษในกระเพาะอาหาร เร็วที่สุด ลดการดูดซึมสารพิษ และให้นำส่งโรงพยาบาลทันที โดยแพทย์มักจะใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยประเภทนี้แบบประคับประคองอาการ ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เช่นใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยพิษจะค่อยๆถูกขับจากร่างกายทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการป้องกันไม่ให้นำเมล็ดแก่ของมันแกวมารับประทานเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งกรมควบคุมโรคจะจัดทำเอกสารให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน สามารถนำไปขยายผลผู้ปกครองได้ด้วย
ทั้งนี้ มันแกวมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่าเพชี่ไรซัส อีโรซัส (Pachyrhizus erosus (L.) Urb.) ชื่อสามัญคือแยม บีน (Yam bean) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบอเมริกากลาง ปัจจุบันได้มีการนำมันแกวมาปลูกในประเทศเขตร้อนหลายแห่งเช่นที่อาฟริกาตะวันออก อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
ในไทยมีการปลูกมันแกวกระจายทั่วประเทศ มากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักจะปลูกในต้นฤดูฝน เพื่อเก็บหัวได้ในฤดูแล้ง โดยในไทยมีชื่อเรียกมันแกวแตกต่างกันกล่าวคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่ามันเพา ภาคใต้เรียกหัวแปะกัวะ ภาคเหนือเรียก มันละแวกหรือมันลาว และยังมีชื่ออื่นๆอีกเช่น หมากบ้ง ถั่วกินหัว ถั่วบ้ง เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของมันแกวเป็นเถาไม้เลื้อย มีหัวใต้ดิน ดอกเป็นช่อเดี่ยว กลีบดอกมีสีม่วงแกมน้ำเงิน ออกผลเป็นฝักแบนคล้ายถั่วลันเตา มี 4-9 เมล็ด เมล็ดมีสีเหลือง น้ำตาลหรือแดง
View 12
29/06/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ