ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุในช่วงนี้ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 276 ทีม ดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 373,716 ราย ตั้งศูนย์พักพิง 99 แห่ง พร้อมให้หน่วยบริการในพื้นที่เสี่ยงใช้หลัก ป้องกัน ยกสูง เคลื่อนย้าย และติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

          วันนี้ (12 ตุลาคม 2564) นายแพทย์เกียรติ ภูมิวงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ว่า ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุที่พัดผ่านเข้ามาเป็นระยะ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ใน 33 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 14 จังหวัด 64 อำเภอ 376 ตำบล 1,995 หมู่ บ้าน 101,923 ครัวเรือน 373,716 ราย โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดย จ.พระนครศรีอยุธยา มีประชาชนได้รับผลกระทบมากที่สุด 53,340 ราย จึงให้จังหวัดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและใกล้เคียงจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ รวม 276 ทีม ลงพื้นที่ดูแลผู้ประสบภัย ประกอบด้วย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 193 ทีมหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค CDCU 19 ทีม หน่วยบริการสุขภาพจิต MCAT 41 ทีม ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ MERT 1 ทีม และ Mini-MERT 7 ทีม หน่วยอนามัยสิ่งแวดล้อม 8 ทีม และอื่นๆ(EMS) 2 ทีม ให้บริการตรวจรักษาแล้ว 74,474 ราย ส่วนใหญ่น้ำกัดเท้า 38,342 ราย รองลงมา คือ แพ้ ผื่นคัน 20,347 ราย ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก 6,935 รายและอาการระบบทางเดินหายใจ 3,477 ราย จากการประเมินสุขภาพจิต 57,093 ราย พบภาวะเครียดระดับมากขึ้นไป 57 ราย เสี่ยงภาวะซึมเศร้า 21 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 3 ราย ทั้งหมดได้รับการดูแลตามมาตรฐาน และได้จัดศูนย์พักพิงทั้งหมด 99 แห่ง มีผู้รับบริการทั้งหมดจำนวน 5,711 ราย ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น 17 แห่ง, ชัยภูมิ 13 แห่ง, นครราชสีมา 15 แห่ง, ลพบุรี 14 แห่ง, สระบุรี 4 แห่ง, อุทัยธานี 5 แห่ง, และอุบลราชธานี 32 แห่ง เพื่อดูแลประชาชน

          นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ยังเปิดให้บริการได้โดยให้จัดหาสถานที่หรือจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำรองเพื่อจัดบริการทางการแพทย์ ส่วนหน่วยบริการในพื้นที่เสี่ยงให้ยึดหลักป้องกัน ยกสูง เคลื่อนย้าย โดยขนย้ายยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ไว้ในที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสียหาย ไม่กระทบบริการประชาชน และจัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นให้เพียงพอต่อการให้บริการ รวมถึงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากพายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” คาดขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคม 2564 จะทำให้ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ยังคงมีฝนตกหนักและอาจกระทบต่อบริการได้

 ***************************12 ตุลาคม 2564

**********************************

 



   
   


View 978    12/10/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ