กระทรวงสาธารณสุข มอบโล่เชิดชูเกียรติให้โรงพยาบาลยโสธร ที่ประสบผลสำเร็จพัฒนาระบบบริการ คว้ารางวัลประกาศเกียรติคุณระดับโลก ประเภทบริการสาธารณะ พร้อมยกให้เป็นโรงพยาบาลในฝันตัวอย่าง เชื่อมั่นหากที่ใดสามารถสร้างความประทับใจ พอใจแก่ประชาชนได้สูง ปัญหาร้องเรียนจะลดได้แน่นอน วันนี้ (30 มิถุนายน 2551) ที่จังหวัดยโสธร นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำสื่อมวลชนจากกรุงเทพมหานคร เยี่ยมชมการพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลยโสธร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน ได้รับประกาศเกียรติคุณด้านบริการสาธารณะจากองค์การสหประชาชาติ ประจำปี 2551 ประเภทพัฒนาการให้บริการ โดยในวันนี้ได้มอบโล่เชิดชูเกียรติให้รพ.ด้วย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมและขอบคุณผู้บริหาร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ตลอดจนทีมอาสาสมัครทุกคนที่ร่วมกันพัฒนาให้บริการผู้ป่วย จนประสบผลสำเร็จได้รับประกาศเกียรติคุณระดับนานาชาติ ด้านบริการเป็นครั้งแรกของกระทรวงสาธารณสุขและประเทศไทย สามารถลดเวลาบริการผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นจุดที่ประชาชนรับบริการหนาแน่นที่สุด จากรายละเกือบ 6 ชั่วโมงในปี 2547 เหลือเพียง 56 นาทีในปี 2550 ความพึงพอใจประชาชนเพิ่มจากร้อยละ 73 เป็นร้อยละ 92 และข้อร้องเรียนบริการเดิมมีวันละ 2-3 ฉบับ กลับกลายเป็นคำชม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยกให้เป็นโรงพยาบาลตัวอย่างเพื่อให้โรงพยาบาลอื่น ๆ มาศึกษาดูงาน เป็นแนวทางพัฒนารูปแบบบริการต่อไป ทางด้านนายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร กล่าวว่า รพ.ยโสธรเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 370 เตียง มีบุคลากร 842 คน ผลของความมุ่งมั่นในการพัฒนาตลอด 40 ปี ทำให้ได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ กล่าวคือในปี 2547 ได้รับรางวัลคุณภาพบริการประชาชนยอดเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ปี 2550 ได้รับรางวัลสุดยอดส้วมระดับประเทศ และปี 2551 ได้รับรางวัลหน่วยกู้ชีพบริการยอดเยี่ยมระดับประเทศ ขณะนี้ยังเป็นที่ศึกษาดูงานของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม นายแพทย์มนัสกล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบบริการจนได้รับรางวัลระดับโลก ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. ขยายบริการเชิงรุกกระจายสู่ชุมชนร่วมกับเครือข่าย โดยเฉพาะการจัดหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว มีอาสาสมัครสาธารณสุขอาสาเข้าไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน 2. ขยายเวลาตรวจรักษาโรคให้พอ ทั้งเช้าและบ่าย ลดความล่าช้า 3. จัดบรรยากาศในโรงพยาบาลให้เหมือนบ้าน เช่น มีมุมอ่านหนังสือ นวดแผนไทย บริการน้ำดื่มสมุนไพร มีดนตรีไทยบรรเลงเบาๆ มีอาสาสมัครทั้งผู้สูงอายุและเยาวชน คอยอำนวยความสะดวกต่างๆไปยังจุดบริการต่างๆ 4. พัฒนาความสะอาด ปลอดภัยห้องสุขา 5. ให้บริการด้วยหัวใจ ยึดความพึงพอใจและความประทับใจของผู้ใช้บริการเป็นหลัก 6. จัดระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว ไม่ต้องเดินไปมาหลายที่ และ 7. เพิ่มบริการด้วยแพทย์ทางเลือก เช่น การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน มีศูนย์ออกกำลังกาย ศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ ห้องคาราโอเกะ ห้องสวดมนต์ ฯลฯ ********************************** 30 มิถุนายน 2551


   
   


View 13    30/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ