กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์การเรียนรู้ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดความเหงาโดดเดี่ยว เพิ่มคุณค่าความภูมิใจ และเร่งจัดระบบการดูแลระยะยาวในชุมชน เผยขณะนี้พบผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 4 ใน 5 คนมีโรคประจำตัว และพบปัญหาสายตา สมองเสื่อมมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้สูงอายุกว่า 5 แสนคน อยู่บ้านคนเดียว
วันนี้ (30 มิถุนายน 2551) ที่จังหวัดยโสธร นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิด ศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุวิถีชนบท ที่สถานีอนามัยบ้านนาเวียง ต.กู่จาน อ.คำเขื่อนแก้ว เพื่อใช้เป็นสถานที่ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุทั้งกายและใจ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณค่า เป็นที่พบปะทำกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุของหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง โดยขยายแนวคิดจากศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุในระดับจังหวัด ซึ่งมีการส่งเสริมสุขภาพโดยเน้นการออกกำลังกาย การนวดแผนโบราณ การปลูกผักสวนครัว และการป้องกันโรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม โดยใช้ภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับท้องถิ่น อาทิ การออกกำลังกายใช้การสีข้าวด้วยมือ ตำข้าว ทอผ้า จักสานไม้ไผ่ เล่นหมากรุก หมากฮอส และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่นักเรียนและประชาชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ผู้สูงอายุใช้ความรู้ ประสบการณ์ชีวิต มาพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในวันนี้ได้มอบโล่ให้ผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี มีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข 9 คนเป็นหญิง 6 คน ชาย 3 คน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มอายุยืนยาวและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าการแพทย์และสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ การพัฒนายาใหม่ ทำให้รักษาหรือควบคุมโรคต่างๆได้ดี ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่ชาติ ล่าสุดในปี 2550 ไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้าน 2 หมื่นคน หรือเกือบร้อยละ 11 ของประชากรทั้งประเทศ ผู้สูงอายุจะป่วยง่ายกว่าวัยอื่นถึง 4 เท่า เพราะอยู่ในวัยเสื่อมถอย ส่วนใหญ่มีปัญหาเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังเช่นเบาหวาน ข้อเสื่อม ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี ประมาณ 4 ใน 5 คนจะมีโรคประจำตัว โดยพบปัญหาการมองเห็นและภาวะสมองเสื่อมมีแนวโน้มสูงขึ้น
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุร้อยละ 92 อยู่กับสมาชิกในครอบครัว ที่เหลืออีกร้อยละ 8 หรือประมาณ 5 แสนกว่าคน อยู่บ้านลำพังคนเดียว ผู้สูงอายุ1 ใน 3 เป็นม่าย หย่า แยกกันอยู่ มีผู้สูงอายุร้อยละ 3 เป็นโสด คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังมากขึ้น ในการเตรียมการรองรับปัญหานี้ ได้ให้กรมอนามัยพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวบูรณาการทั้งสุขภาพกาย ใจและสังคม ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เน้นบริการเชิงรุกประกันการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้ตั้งชมรมผู้สูงอายุเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ชะลอการเสื่อมอวัยวะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ นับว่ามีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมหาศาล นอกจากจะดึงคุณค่าในผู้สูงอายุมาใช้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน ยังเป็นการธำรงรักษาความมั่นคงของสังคมวัฒนธรรมไทย ปลุกจิตสำนึกให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
ทางด้านนายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร กล่าวว่า จากการสำรวจในปี 2550 ยโสธรมีผู้สูงอายุ 56,435 คน คิดเป็นร้อยละ 9 ของประชากร มีชมรมผู้สูงอายุ 674 ชมรม ครอบคลุมผู้สูงอายุ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจัดให้มีกิจกรรมพบปะกันอย่างต่อเนื่อง และได้ให้โรงพยาบาล สถานีอนามัยในพื้นที่ จัดบริการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุประจำปี และจัดเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่นอนป่วยอยู่ที่บ้านซึ่งมีประมาณร้อยละ 2 เพื่อดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มักมีปัญหาอัมพาต อัมพฤกษ์ จากโรคความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม หกล้มกระดูกหัก โดยจะขยายศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้มีอย่างน้อยทุกตำบล และทุกสถานีอนามัยต่อไป
******************************30 มิถุนายน 2551
View 13
30/06/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ