สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 738 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับ 17 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง และ 3 จังหวัดใต้เฝ้าระวังน้ำท่วม คาดมีสถานบริการเสี่ยงได้รับผลกระทบรวม 1,487 แห่ง ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมยังเหลือ 15 จังหวัด ทีมแพทย์ให้บริการดูแลแล้ว 5.1 แสนราย เตือนเฝ้าระวังสุขอนามัย ป้องกันท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคระบบทางเดินอาหาร พบป่วยแล้วรวม 1,600 กว่าราย
วันนี้ (24 ตุลาคม 2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากอุทกภัย พบว่า ขณะนี้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง 17 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว และกาญจนบุรี ส่วนภาคใต้และอ่าวไทยยังมีลมตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ทำให้มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง ประเมินว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 3 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี สงขลา และยะลา
ทั้ง 2 กรณีคาดว่ามีสถานบริการสาธารณสุขเสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวม 1,487 แห่ง แบ่งเป็น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 18 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 92 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 17 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 72 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1,283 แห่ง กำชับให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ เตรียมพร้อมป้องกันอาคาร สถานที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำรองยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ จัดบริการทางการแพทย์ และเฝ้าระวังผลกระทบโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับผลกระทบจาก 4 เหตุการณ์ คือ พายุเตี้ยนหมู่ , คมปาซุ , ร่องมรสุมภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน และความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุม ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมรวม 15 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี ปราจีนบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครปฐม สระแก้ว และกาญจนบุรี มีผู้บาดเจ็บรวม 288 ราย เสียชีวิต 74 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 174 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 136 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 26 แห่ง และปิดบริการ 12 แห่ง ส่งทีมแพทย์ออกปฏิบัติการ 410 ทีม ดูแลประชาชนและผู้ประสบอุทกภัย 511,576 ราย ได้แก่ เยี่ยมบ้าน 131,646 ราย แจกยาชุดช่วยเหลือน้ำท่วม 120,248 ราย ให้สุขศึกษา 92,769 ราย และบริการตรวจรักษา 101,262 ราย รวมถึงประเมินสุขภาพจิต 65,651 ราย พบเครียดมาก 433 ราย เสี่ยงภาวะซึมเศร้า 49 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 ราย ได้รับการดูแลตามระบบแล้ว
"จากการตรวจรักษาพบผู้ป่วยโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น อุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ 957 ราย โรคระบบทางเดินอาหาร 691 ราย ขอให้ประชาชนรักษาสุขอนามัย ล้างมือทุกครั้งหลังขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รับประทานอาหารสุกและอุ่นร้อน เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อ พื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลง การทำความสะอาดและฟื้นฟูบ้านเรือน ขอให้ตรวจเช็กระบบไฟฟ้าเพื่อป้องกันอันตรายก่อนเข้าบ้าน" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
******************************** 24 ตุลาคม 2564