กระทรวงสาธารณสุขพบการจัดกิจกรรมในงานศพ อาทิ รับประทานอาหาร ดื่มเหล้าร่วมกัน ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด 19 ได้ ย้ำ ต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หากป่วยไม่ควรร่วมงาน ส่วนช่วงน้ำหลากให้ระมัดระวังการเล่นน้ำด้วยกันอาจสัมผัสน้ำมูกน้ำลายจนติดเชื้อได้

         วันนี้ (25 ตุลาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 และการฉีดวัคซีน ว่า สถานการณ์โควิด 19 วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 9,589 ราย ผู้ติดเชื้อใหม่ 8,675 ราย เสียชีวิต 44 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรังถึง 95% ขอให้กลุ่มดังกล่าวเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับการติดเชื้อใน กทม. และปริมณฑลขณะนี้ลดลงสอดคล้องกับภาพรรวมประเทศ พื้นที่ชายแดนใต้ยังมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 23% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เร่งรัดการฉีดวัคซีน จัดทีมเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อแยกผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เข้าสู่ระบบรักษา และเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำศาสนาและประชาชนเป็นอย่างดี

         นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สาเหตุที่น่าสนใจ ของการติดและแพร่เชื้อโควิด 19 คือกิจกรรมงานศพซึ่งกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เชิงรุก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 19 ตุลาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อ 747 ราย เช่น จ.จันทบุรี มีผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับงานศพ 153 ราย, อุบลราชธานี 119 ราย, ปราจีนบุรี 79 ราย, อุดรธานี 72 ราย, สระแก้ว 39 ราย เป็นต้น โดยกิจกรรมเสี่ยง คือ การรับประทานอาหารร่วมกัน, การดื่มสุราและใช้แก้วน้ำร่วมกัน, สวมหน้ากากอนามัยผิดวิธีหรือไม่สวมหน้ากากอนามัย, เล่นพนัน, การพักค้างแรมร่วมกับเจ้าภาพ รวมถึงการเข้าร่วมงานทั้งที่มีอาการป่วย ขอให้ผู้ไปร่วมงานเว้นระยะห่าง ไม่ถอดหน้ากากอนามัย ไม่ควรดื่มสุราร่วมกันเพราะจะทำให้เกิดความใกล้ชิดและหย่อนยานการระมัดระวังตัวจนเกิดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างพูดคุยหรือไอจามได้

         ส่วนความกังวลของเชื้อโควิคสายพันธุ์เดลต้า พลัส ในช่วง 28 วันที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้ติดตามการติดเชื้อในประเทศอังกฤษพบว่าเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 6% ของสายพันธุ์อื่นๆ การแพร่ระบาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์เดิม โดยกระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลเพิ่มเติมตลอดเวลา ขอให้ประชาชนอย่ากังวล เนื่องจาก องค์การอนามัยโลกยังไม่มีการยกระดับของสายพันธุ์ ที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลต้า พลัส เพียง 1 ราย และไม่มีรายอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

          “ในช่วงที่น้ำหลากอาจพบการติดเชื้อโควิด 19 เป็นกลุ่มก้อนจากการเล่นน้ำ เนื่องจากมีการใกล้ชิด พูดคุย สัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือติดจากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อแต่มีอาการน้อยและนำไปแพร่โรคได้” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว

         สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 24 ตุลาคม 2564 สะสม 70,505,802 โดส ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 39,999,692 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 28,372,531 ราย เข็ม 3 จำนวน 2,133,579 ราย เฉพาะวันที่ 24 ตุลาคม ฉีดได้เพิ่ม 226,178 โดส การฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ภาพรวมอยู่ที่ 76.2% โดย กทม.ฉีดได้เกิน 100% รองลงมาคือภูเก็ต 82.7% ชลบุรี 79.3% สมุทรปราการ 72.4%
ส่วนจังหวัดอื่นๆ เกิน 50%
สำหรับการฉีดวัคซีนนักเรียนขณะนี้ได้ฉีดไปแล้ว 1,605,391 ราย หากผู้ปกครองประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนเพิ่มเติมขอให้ติดต่อที่โรงเรียนเพื่อรวบรวมรายชื่อรับการจัดสรรวัคซีนต่อไป

 ******************************** 25 ตุลาคม 2564

***********************************



   
   


View 2131    25/10/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ