สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 740 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก้าวสู่ Smart อย. มอบนโยบายเน้นความรวดเร็ว โปร่งใส เข้มการกลั่นกรองโฆษณาผลิตภัณฑ์โอ้อวดเกินจริง ดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความรอบรู้ให้ผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัย
วันนี้ (27 ตุลาคม 2564) ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และหัวหน้าหน่วยงานในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้การต้อนรับ
ดร.สาธิตกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นองค์กรหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์คุณภาพ มีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเรื่องของวัคซีนเป็นอย่างดี ได้เห็นชอบที่ อย. มีแนวทางในการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่ Smart อย. พร้อมมอบนโยบายเร่งด่วนให้เพิ่มความเข้มงวดในการกลั่นกรองโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริงที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ รวมถึงตรวจสอบการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์ และให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ กสทช. สบค. ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย รวมทั้งให้ต่อยอดการดำเนินภารกิจด้านต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่การเป็น
Smart อย. “รวดเร็ว ปลอดภัย นำไทยสู่สากล”
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2565 มุ่งเน้นดำเนินงาน 7 โครงการ คือ 1.สร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ในสถานการณ์โควิด 19 2.การพัฒนาพืชสมุนไพรกัญชา กัญชง และกระท่อม 3.การพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพให้รวดเร็ว โปร่งใส มีประสิทธิภาพ 4.พัฒนาระบบและกลไกการควบคุมกำกับดูแลเชิงรุก 5.การสร้างความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 6.พัฒนาสู่องค์กรดิจิทัล 7.พัฒนาบุคลากรให้ทันสมัย มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นองค์กรสุขภาพดี โดยมีนโยบายเน้นหนักด้านอาหารและยา ได้แก่ การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ เร่งพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน เช่น การจัดช่องทางด่วนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับโควิด 19 ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศ เพื่อเพิ่มความมั่นคง ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ, จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายออนไลน์ ร่วมกับ e-Market Place และ โซเชียลมีเดียต่างๆ และจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ส่งเสริมสมุนไพร กัญชา/กัญชง เพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจ ตั้งเป้าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% และเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการลดทรัพยากรในการวิจัยและระยะเวลาการขึ้นทะเบียน อย่างน้อย 200 รายการ และพัฒนากระบวนการอนุมัติอนุญาตให้ “รวดเร็ว ทันใจ โปร่งใส” โดยเฉพาะการต่อใบอนุญาตภายใน 3 นาที
******************************** 27 ตุลาคม 2564
********************************