สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระตุ้นบุคลากรสาธารณสุขทั่วไทย ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานประจำในหน่วยงานทุกระดับ เพิ่มคุณภาพงานบริการสุขภาพและสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน พร้อมจับมือภาคีพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เผยแพร่ผลงานการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยระดับชาติ เช้าวันนี้ (2 กรกฎาคม 2551) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research) ภายใต้ชื่อ R2R : เสริมพลัง สร้างสรรค์ และพัฒนา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2551 โดยบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมรวม 1,350 คน นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ภารกิจหลักของบุคลากรสาธารณสุข คือการให้บริการสุขภาพที่ดี มีคุณภาพสูงสุดแก่ประชาชน ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งขณะนี้ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและสุขภาพ ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บุคลากรสาธารณสุขจึงต้องเร่งพัฒนาทั้งตัวเองและงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง และจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความรู้เพื่อนำมาพัฒนางานก็คือ การทำงานวิจัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่กว้างขวาง หรือใช้เวลา ใช้คนทำจำนวนมาก แต่เป็นงานวิจัยที่เริ่มต้นจากคำถามเกี่ยวกับงานประจำที่เราทำและต้องการพัฒนาให้ดีขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ด้านนายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ในระบบสุขภาพ ตั้งแต่หน่วยงานขนาดใหญ่ เช่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปจนถึงหน่วยงานขนาดเล็ก เช่น สถานีอนามัย ได้ให้ความสนใจในการทำวิจัยจากงานประจำ และมีการดำเนินการในลักษณะเครือข่ายอย่างเป็นระบบมากขึ้น ในแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2551-2553 สวรส. จึงได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์สนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่เพิ่มขึ้นผ่านกระบวนการ R2R และผลักดันให้นักวิจัยเหล่านี้สามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อให้เป็นนักวิจัยระบบสุขภาพในอนาคต สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ นับเป็นการรวมตัวกันในระดับชาติครั้งแรกของนักวิจัย R2R ทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยท้องถิ่น นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ และแสดงผลงานของนักวิจัยที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ การดูแลรักษาเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นอย่างครบวงจร โดยทีม รพ.ศิริราช การจัดการความรู้การป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยที่คาสายปัสสาวะ โดยทีม รพ.กุดจับ จ.อุดรธานี ทุนชุมชน : การเคลื่อนไหวแก้ไขปัญหาสุรา กรณีศึกษาชุมชนบ้านโคก อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยทีม รพ.น้ำพอง รวมทั้งงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ โนราโรงครู บทบาท ความสัมพันธ์ทางสังคม สุขภาวะของชาวปักษ์ใต้, พิธีบวงสรวงปลาบึก กับสุขภาวะของคนลุ่มน้ำโขง, เสี่ยวอ่อนหวานสานสุข ซึ่งประยุกต์ใช้ประเพณีผูกเสี่ยวในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน, การพัฒนา “กางเกงวิเศษ” เป็นเครื่องมือพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคลในการตรวจมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาเรื่อง คุณค่าแห่งการเรียนรู้ และ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ปาฐกถาเรื่อง ยุทธศาสตร์ระบาด R2R ด้วย **************************2 กรกฎาคม 2551


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ