ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงความรุนแรงต่อเด็กเพิ่มความเสี่ยงฆ่าตัวตาย เผยไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติยุติความรุนแรงในเด็ก นำเสนอผลการอบรมพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยหลักสูตร PLH-YC ที่อุดรธานี ช่วยลดการปฏิบัติรุนแรงต่อเด็กลง 58% ลดทารุณกรรม 44% ลดปัญหาพฤติกรรมเด็ก 60% เตรียมขยายให้ครบทั้งเขตสุขภาพที่ 8 พร้อมพัฒนาการดูแลครบวงจร ด้วยระบบ Child Shield คัดกรองติดตามเด็กและครอบครัวที่มีความเสี่ยงรุนแรง และ Primero จัดการเคสคุ้มครองเด็ก
วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินขององค์การสหประชาชาติพบว่า ในปีที่ผ่านมามีเด็กถูกกระทำความรุนแรงถึง 50% หรือคิดเป็นจำนวนเด็กกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นต่อเด็กทันทีและระยะยาวจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผู้ถูกกระทำความรุนแรงมักใช้พฤติกรรมบางอย่างเพื่อจัดการผลกระทบต่อจิตใจ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติดและมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะคนที่ถูกทารุณกรรมทางร่างกายในวัยเด็กจะมีความเสี่ยงต่อการคิดและพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า
ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองเด็ก โดยวันนี้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคครั้งที่ 2 เสริมสร้างการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ INSPIRE เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กในช่วงโควิด 19 และอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอแนวทางการเลี้ยงดูเด็กที่มีงานวิจัยเพื่อลดความรุนแรง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับยูนิเซฟดำเนินการนำร่องในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ คือ การนำหลักสูตร Parenting for Lifelong Health for Young Children (PLH-YC) ซึ่งเป็นการอบรมพ่อแม่ที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ง่าย ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ได้ในทุกบริบทสังคมและวัฒนธรรมมาเริ่มดำเนินการที่ จ.อุดรธานี โดยหลักสูตรมี 8 ชั่วโมง คือ การใช้เวลาตามลำพังกับเด็ก, การพูดคุยเรื่องความรู้สึก, การชมและให้รางวัลเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก, การออกคำสั่งเชิงบวกที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง, การกำหนดกฎระเบียบในบ้านและกิจวัตรประจำวัน, การเพิกเฉยต่อพฤติกรรมเชิงลบที่เรียกร้องความสนใจและกดดัน, การให้ผลติดตามเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และการแก้ปัญหา ทบทวนตรึกตรองและก้าวไปข้างหน้า
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า จากการเก็บข้อมูลปี 2562 เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับการอบรมและกลุ่มพ่อแม่ลูกที่ได้รับบริการจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตามปกติ พบว่า ในช่วงเวลา 3 เดือน กลุ่มที่ได้รับการอบรมลดการปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรุนแรงลงถึง 58% ลดการเลี้ยงดูที่มีลักษณะการทารุณกรรมและก้าวร้าวลง 44% และลดปัญหาพฤติกรรมเด็กลง 60% ผู้ปกครองรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถในการดูแลเด็กสูงขึ้น โดยจะขยายการอบรมเพิ่มให้ครบทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบ Child Shield เพื่อเฝ้าระวัง วิเคราะห์ คัดกรอง และติดตามเด็กและครอบครัวที่มีความเสี่ยงของความรุนแรง แสวงประโยชน์ ล่วงละเมิด และการละเลย จากนั้นดำเนินการป้องกันความเสี่ยงด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น PLH-YC เป็นต้น รวมถึงนำระบบ Primero ซึ่งเป็นระบบจัดการเคสด้านการคุ้มครองเด็กที่มีการใช้งานมากกว่า 20 ประเทศมาใช้ โดยเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการเก็บข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัย และเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ใช้บริการ เริ่มในเขตสุขภาพที่ 8 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะร่วมกับยูนิเซฟสนับสนุนและขยายโครงการแบบบูรณาการ เพื่อปกป้องเด็กจากความรุนแรงและการละเมิดทั้งหมดต่อไป
สำหรับการประชุมระดับภูมิภาคครั้งที่ 2 เสริมสร้างการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ INSPIRE เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กในช่วงโควิด 19 และอื่นๆ (Second Regional Conference to Strengthen Implementation of INSPIRE Strategies to End Violence Against Children During COVID-19 and Beyond) มี 31 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน, กัมพูชา, จีน, หมู่เกาะคุก, ฟิจิ, คิริบาตี, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเลเซีย, หมู่เกาะมาร์แชลล์, ไมโครนีเซีย, มองโกเลีย, นาอูรู, เมียนมา, นิวซีแลนด์, นีอูเอ, ปาเลา, ปาปัวนิวกินี, ฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐเกาหลี, ซามัว, สิงคโปร์, หมู่เกาะโซโลมอน, ติมอร์-เลสเต, โตเกเลา, ตองกา, ตูวาลู, วานูอาตู และเวียดนาม
*********************************** 2 พฤศจิกายน 2564
**********************************************