รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ร้านขายอาหาร สถานประกอบการหรือประชาชน ที่ฝ่าฝืนกระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เช่น การขายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย เช่น โรงพยาบาล วัด โรงเรียน สวนสาธารณะของทางราชการ การโฆษณา การเร่ขาย การจัดโปรโมชั่นใช้ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนลดแลกซื้อบัตรเข้าชมงานการแสดงต่างๆ หากพบแจ้งจับดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โทษขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-500,000 บาท ขอความร่วมมือประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส ทางโทรศัพท์ 02 5903342 หรือ www.thaiantialcohol.com
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2551เป็นต้นมา โดยไม่มีการยกเว้นในการบังคับใช้หรือผ่อนผันใดๆทั้งสิ้นว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการหรือประชาชนไม่เข้าใจมาตรการหรือกฎหมายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีหลายมาตรา จึงยังพบเห็นการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง เช่น ร้านอาหารมีการทำป้ายโฆษณาเมนูอาหารเด็ดในร้าน โดยมีข้อความขอแนะนำให้ทานพร้อมกับเบียร์สด หรือมีการโฆษณาเหล้า ยาดองว่าเป็นเครื่องดื่มเพิ่มพลังโดยใช้ข้อความว่า นารีแดงทำให้กระชุ่มกระชวย นางครวญใช้บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต โด่ไม่รู้ล้มใช้เพิ่มพลังทางเพศ ซึ่งตัวอย่างทั้งหมดนี้ จัดเข้าข่ายโฆษณา อวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินความเป็นจริง จูงใจประชาชนให้เกิดความอยากบริโภค
นายไชยา กล่าวต่อไปว่า ในการจะควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องดำเนินหลายๆมาตรการร่วมกันอย่างบูรณาการ ซึ่งการกระทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นี้มีหลายมาตรา จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ลงไปตรวจสอบ เฝ้าระวัง ดูแลอย่างใกล้ชิดทุกจังหวัด เพื่อให้สถานประกอบการ ประชาชน ปฏิบัติตาม ทั้งสถานที่ห้ามขาย สถานที่ห้ามดื่ม การจำหน่ายทุกรูปแบบ ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย และหากยังฝ่าฝืนให้ดำเนินการลงโทษทันที โดยไม่ละเว้น นอกจากนี้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเพิ่มการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ช่วยกันแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ซึ่งเชื่อว่าปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะลดลง และถ้าประชาชนเข้าใจคำนึงถึงอนาคตเยาวชนไทย และให้ความร่วมมือไม่ละเมิดกฎหมาย จะเป็นการช่วยกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากผลกระทบของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกทางหนึ่ง
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลตั้งแต่ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องจัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิต หรือนำเข้าตามมาตรา ที่ 26 หากพบไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 27 และมาตรา 31 ว่าด้วยการห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณต่อไปนี้ ได้แก่ วัด สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือ ร้านขายยา สถานที่ราชการ หอพัก สถานศึกษา เช่น วิทยาลัย โรงเรียน หรือปั้มน้ำมัน หรือสวนสาธารณะของทางราชการเป็นที่จัดให้พักผ่อนหย่อนใจหรือออกกำลังกาย สถานที่ทั้งหมดนี้ หากพบผู้ใดนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปจำหน่าย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งห้ามขายโดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติเช่น ตู้หยอดเหรียญ การเร่ขาย หรือขายลดราคาหรือจัดโปรโมชั่น นำชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาใช้เป็นส่วนลดในการแลกซื้อบัตรเข้าขมงานการแสดงต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามขายให้ผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ หากพบมีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือจูงใจให้ผู้อื่นอยากดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆโดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่ใช่เป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร หรือให้ความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม และห้ามโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆโดยมีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏภาพสัญญาลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญญาลักษณ์บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากจะมีโทษดังกล่าวแล้วผู้ฝ่าฝืนยังมีโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดในมาตราตามกฎหมายนี้ สามารถแจ้งไปได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทรศัพท์ 0 2590 3342 หรือแจ้งเบาะแสไปที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ โทรศัพท์ 0 2590 3032,35 โทรสาร 02 9511493 ในวันเวลาราชการ หรือที่เว็ปไซต์ www.thaiantialcohol.com ตลอด 24 ชั่วโมง
************************************** 6 กรกฎาคม 2551
View 16
06/07/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ