กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมครบรอบหนึ่งปีการเป็นประธานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก เผยการสร้างทีมพหุภาคีที่เข้มเเข็ง สนับสนุนการทำงานระหว่างประเทศสมาชิกเเละที่ปรึกษา ปัจจุบันร้อยละ 47 ของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัดเเล้ว โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความยินดีกับอิตาลีในวาระรับตำแหน่งประธานคนใหม่ในปี 2022 และพร้อมมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน

         นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้เป็นประธานการประชุม ร่วมกับเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย (His Excellency Mr. Lorenzo Galanti) ในส่วนกรมควบคุมโรคมอบหมายให้ นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมการประชุมระดับสูงวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda: GHSA) จัดโดยสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2564 ที่โรงเเรมพูลแมน ภูเก็ต พันวา บีช รีสอร์ท ร่วมกับผู้เเทนจากประเทศต่างๆ และองค์กรในเครือข่าย GHSA กว่า 200 คนทั่วโลก ทั้งการประชุมในห้องประชุมภายใต้โครงการ Phuket Sandbox เเละผ่านระบบทางไกล

         โดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม มีสาระสำคัญกล่าวถึงการดำเนินงานตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานวาระความมั่นคงสุขภาพโลก ได้สนับสนุนการพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของ GHSA ในปี 2024 เเละตอกย้ำความสำคัญของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกในเวทีระดับนานาชาติว่าเป็นความร่วมมือที่สำคัญ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างทีมที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มเเข็ง ทุกระดับ ตั้งเเต่ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศ พร้อมแสดงความยินดีต่ออิตาลีในการรับตำแหน่งประธานในปี 2022 ในขณะที่ประเทศไทยแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับอิตาลีเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านประธานจะเป็นไปอย่างราบรื่น

          นายเเพทย์สุระ กล่าวถึงข้อเสนอที่ไทยผลักดันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกในปี 2024 คือ 1.การทำงานสอดประสานกันระหว่างคณะทำงานชุดกิจกรรมและคณะทำงานชุดเฉพาะกิจของ GHSA 2. สร้างการเป็นหุ้นส่วนเเละการสร้างเครือข่ายที่เข้มข้นขึ้นจะต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการส่งเสริมแนวทางแบบพหุภาคส่วนโดยใช้หลักการสุขภาพหนึ่งเดียว 3. สร้างเเละส่งเสริมช่องทางการสื่อสารเพื่อเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับ GHSA 4. ส่งเสริมการใช้ทรัพยากร/เครื่องมือร่วมกัน 5.ติดตามความคืบหน้าของงาน GHSA และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับความสำคัญโดยมีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เเละองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นที่ปรึกษาถาวรในการทำงาน

         ปัจจุบัน GHSA มีสมาชิก รวม 74 ประเทศ/องค์กร ซึ่งเป็นพัฒนาการสำคัญของการขับเคลื่อนงาน GHSA ได้อย่างมีความหลากหลายขององค์กรและครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนภายใต้นโยบายสำคัญ “Friends for Friends” ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน GHSA 2021 โดยในการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกครั้งที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 ได้มีการรับรอง สหราชอาณาจักร เอธิโอเปีย และไนจีเรีย เป็นประเทศสมาชิก GHSA ขับเคลื่อนหมุนเวียน

          ประเทศไทยเข้าร่วมและดำเนินการอย่างต่อเนื่องในวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก มีจุดมุ่งหมายในการร่วมกันพัฒนาสมรรถนะของไทยและประเทศสมาชิกให้สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อตอบโต้ภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำหรือเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที เเละลดผลกระทบทุกด้านอย่างสมดุลผ่านการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน จากข้อมูลการสำรวจความสำเร็จของการดำเนินงานของประเทศพบว่าร้อยละ 47 ของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัด เเละร้อยละ 26 ใกล้บรรลุวัตถุประสงค์เเล้ว

****************************** 23 พฤศจิกายน 2564

**************************************



   
   


View 139    23/11/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ