รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ชี้ขณะนี้พื้นที่ไม่มีปัญหาขาดแคลนแพทย์แล้ว พยาบาล 3,000 คน ในโควต้านักเรียนทุนจะจบทำงานในปี 2554 เร่งยกเครื่องระบบริการเชื่อมโยงทั้งโรงพยาบาล สถานีอนามัย งานควบคุมป้องกันโรค เพิ่มค่าตอบแทนพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยระหว่างส่งต่อจาก 500 เป็น 1,000 บาท เผยสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 15 เดือนมานี้ โรงพยาบาลได้รักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บเกือบ 6,000 วัน ค่ารักษากว่า 15 ล้านบาท
วันนี้ ( 9 กรกฎาคม 2551) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบนโยบายแนวทางการการดำเนินงาน แก่แพทย์ พยาบาล จ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 500 คน ที่โรงพยาบาลปัตตานี จังหวัดปัตตานี และโรงพยาบาลยะลา จังหวัดยะลา
นายวิชาญ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาจัดบริการประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้เป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งการขยายบริการรักษาพยาบาลให้ประชาชนเข้าถึงตลอด 24 ชั่วโมง สถานพยาบาลทุกแห่งขณะนี้มีแพทย์เต็มอัตราแล้วทั้งแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง ส่วนพยาบาลขณะนี้มีประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ มั่นใจว่าเมื่อพยาบาลโควต้านักเรียนทุน 3,000 คน จบการศึกษาในพ.ศ. 2554 ปัญหาขาดแคลนก็จะบรรเทาลง
ในปีงบประมาณ 2552 ได้มอบนโยบายให้พัฒนาระบบริการสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนใต้ โดยทบทวนทั้งระบบ โดยเฉพาะระบบริการในระดับอำเภอ เตรียมพร้อมรองรับพยาบาล 3,000 คน ที่จะจบการศึกษาในปี 2554 ทั้งความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยปฐมภูมิและทุติยภูมิ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว เฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ พัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก ค้นหาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต เพื่อวางแผนแก้ไขให้ตรงจุด
ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในรอบ 15 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550- มีนาคม 2551ได้รายงานการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 47 แห่งในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 1,391 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,763 คน เสียชีวิต 735 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 2 คน รวมเวลาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด 5,895 วัน ใช้ค่ารักษา 15 ล้านบาทเศษ
นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ลักษณะการทำร้ายส่วนใหญ่ใช้อาวุธปืนยิง รองลงมาคือวัตถุระเบิด ผู้บาดเจ็บจากเหตุความไม่สงบดังกล่าว จัดอยู่ในประเภทฉุกเฉิน ต้องให้การดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน เหตุมักเกิดตอนกลางคืนเวลา 20.00 น. โดยสถานพยาบาลในสังกัด ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในพื้นที่ 4จังหวัดชายแดนภาคใต้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตลอดเวลา และได้เพิ่มค่าตอบแทนในการดูแลผู้บาดเจ็บระหว่างส่งรักษาต่อในโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญ จากอัตราปกติทั่วไป 500 บาท ให้เป็น 1,000 บาท ตามสภาพพื้นที่ความยากลำบากและความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง
*************************** 9 กรกฎาคม 2551
View 11
09/07/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ