กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ เชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้อาการหนักหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้น การตรวจสายพันธุ์แบบเบื้องต้นและแบบยืนยัน ยังสามารถตรวจจับโอมิครอนได้ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มประสิทธิผลต่อเชื้อ แนะประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีน

            วันนี้ (20 ธันวาคม 2564) ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ขณะนี้ทั่วโลกพบรายงานสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 89 ประเทศ มี 3 สายพันธุ์ย่อย ส่วนใหญ่ยังเป็น BA1 กว่า 6 พันราย BA2 พบ 18 ราย และ BA3 พบ 5 ราย มีการศึกษาจากต่างประเทศเกี่ยวกับค่า RO หมายถึงผู้ป่วยหนึ่งคนจะแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้กี่คน พบว่า สายพันธุ์อู่ฮั่นอยู่ที่ 2.5 สายพันธุ์เดลตา 6.5 และโอมิครอน 8.54 ซึ่งเร็วกว่าเดลตา ส่วนความรุนแรงนั้นข้อมูลจากแอฟริกาใต้พบว่าการระบาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่อัตราการนอนโรงพยาบาล ป่วยหนักและเสียชีวิตยังไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า โอมิครอนอาจกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีน แต่ไม่กระทบต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทั้งชนิด T Cell และชนิด B Cell การฉีดเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งประเทศไทยรณรงค์ให้รับวัคซีนเข็ม 3 ถือเป็นนโยบายที่ถูกต้อง โดยขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังเพาะเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เพื่อนำมาทดสอบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนสูตรต่าง ๆ ว่ายับยั้งได้มากน้อยเพียงใด คาดว่าจะทราบผลช่วงปีใหม่นี้

               สำหรับการตรวจสายพันธุ์โควิดช่วงระหว่างวันที่ 11-19 ธันวาคม 2564 จำนวน 1,595 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา 1,541 ตัวอย่างคิดเป็น 6.61%, อัลฟา 1 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.06%, เบตา 1 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.06% และโอมิครอน 52 ตัวอย่าง คิดเป็น 3.26% เมื่อรวมกับผลตรวจก่อนหน้านี้ พบโอมิครอนแล้ว 63 ราย ตรวจยืนยันแล้ว 20 ราย ถือว่าพบการติดเชื้อโอมิครอนค่อนข้างเร็วสอดคล้องกับสถานการณ์โลก และการติดเชื้อในผู้เดินทางเข้าประเทศทุกระบบ เป็นโอมิครอน 25% โดยพบ 1 รายในระบบ Test&Go ที่ผล RT-PCR ก่อนมาไทย 72 ชั่วโมงเป็นลบ เมื่อมาถึงประเทศไทยตรวจอีกครั้งยังเป็นลบ หลังจากนั้น 2-3 วันพบว่าป่วย และเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเกิดขึ้นได้เนื่องจากยังอยู่ในช่วงระยะฟักตัว

              “กรณีดังกล่าวหากไม่สามารถตรวจจับได้ทัน อาจเกิดการติดเชื้อในประเทศได้ จึงควรมีการทบทวนมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น โดยอยู่ที่ ศบค.จะพิจารณาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การตรวจสายพันธุ์แบบเบื้องต้นและแบบยืนยัน ยังสามารถตรวจจับโอมิครอนได้ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจำเป็นต้องฉีดโดยเร็ว และผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนเลยควรรีบมาฉีดเพื่อให้มีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น” นพ.ศุภกิจกล่าว

*********************************** 20 ธันวาคม 2564



   
   


View 350    20/12/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ