กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจพฤติกรรมประชาชนใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีความรู้เรื่องอันตรายโรคความดันโลหิตสูงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่พฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันโรคยังน่าห่วง เสี่ยงโรคคุกคาม โดยเกือบร้อยละ 70 ไม่คุมน้ำหนักตัว อีกกว่าร้อยละ 90 ชอบรับประทานอาหารจำพวกทอด มีกะทิ อาหารรสเค็ม และอีกร้อยละ 76-86 ชอบเปิบข้าวขาหมู หอยทอด เติมน้ำตาล และเติมน้ำปลาก่อนชิม
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายรณรงค์ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคที่มีความใกล้ชิดกับการใช้พฤติกรรมประจำวันของประชาชน วงการแพทย์ทั่วโลกจัดเป็นภัยเงียบสุขภาพที่สำคัญ เพราะโรคจะค่อยๆก่อตัวทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ มักไม่มีสัญญานเตือนหรืออาการนำมาก่อน และเมื่อไรก็ตามที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูง ภาวะนี้จะอยู่กับผู้นั้นตลอดชีวิต รักษาไม่หายขาด จากการสำรวจภาวะสุขภาพในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปครั้งล่าสุดเมื่อพ.ศ. 2547 พบมีภาวะความดันโลหิตสูงร้อยละ 22 หรือประมาณ 11 ล้านคน แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 30,000 ราย ที่น่าตกใจคือผู้ป่วย 2ใน 3 ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเป็นโรค ในปี 2549 มีผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศเกือบ 400,000 คน
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวได้แก่ อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ใช้วิถีชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่มีรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งผู้ที่ไม่กินผัก ผู้ที่มีความเครียดและผู้ที่เป็นเบาหวาน
ทั้งนี้จากการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง แบบเร่งด่วน ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ใน 8 จังหวัดได้แก่ลำปาง พะเยา อุบลราชธานี ชัยภูมิ ชัยนาท ปทุมธานี ชุมพรและตรัง รวม 825 คน ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53 น้ำหนักเกินปกติ โดยผู้หญิงมีรอบเอวเกินมาตรฐานคือมากกว่า 80 เซนติเมตร ร้อยละ 46 ส่วนผู้ชายมีรอบเอวเกินมาตรฐานคือมากกว่า 90 เซนติเมตร ร้อยละ 15 ซึ่งเกือบร้อยละ 30 มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มากที่สุดได้แก่พ่อ แม่ รองลงมาคือสามีและภรรยา
ผลการสำรวจครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตุว่า กลุ่มตัวอย่าง 2 ใน 3 แม้ว่ามีความรู้ในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงอยู่ในระดับดีก็ตาม แต่มีการนำมาปรับใช้ในพฤติกรรมประจำวันในระดับปานกลาง คือทำบ้างไม่ทำบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอาหารการกิน รองลงมาคือการไม่ออกกำลังกาย นายแพทย์สุพรรณกล่าว
ทางด้านนางเพ็ญศรี เกิดนาค ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมการดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยง ป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงพบว่า พฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างปฏิบัติมากที่สุดคือการไม่สูบบุหรี่มีร้อยละ 73 รองลงมาการทำกิจกรรมเมื่อมีเวลาว่าง เช่นปลูกต้นไม้ ปฏิบัติร้อยละ 55 การรับประทานอาหารหลากหลาย เน้น ผัก และผลไม้รสไม่หวานร้อยละ 53 ไปตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ร้อยละ 45 ไม่ดื่มเหล้าเบียร์ร้อยละ 44 มีการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนร้อยละ 31
พฤติกรรมที่ประชาชนปฏิบัติน้อยที่สุดและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง อันดับ 1 ได้แก่ การกินอาหารที่ใช้น้ำมันทอด เช่น เนื้อทอด กล้วยทอด ไข่ทอด มีร้อยละ 96 รองลงมาคือการกินอาหารที่ส่วนประกอบของกะทิ และกินอาหารรสเค็มเช่น ปลาเค็ม ไข่เค็ม ผักกาดดอง มีร้อยละ 92 ที่เหลือคือชอบรับประทานอาหารประเภทขาหมู ข้าวมันไก่ หอยทอด ผัดไท รวมทั้งผลไม้ดองเช่นบ้วย ลูกท้อดอง บ๊วยเค็ม เติมน้ำตาลในอาหาร เติมน้ำปลาในอาหารก่อนรับประทานโดยไม่ได้ชิมก่อน ร้อยละ 76-86
สำหรับประเด็นความรู้โรคความดันโลหิตสูง ที่กลุ่มตัวอย่างมีความรู้มากที่สุดได้แก่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ตอบถูกร้อยละ 94 รองลงมาได้แก่การที่มีระดับความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานและควบคุมไม่ได้ อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ตีบ ตัน เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ มีผู้ตอบถูกร้อยละ 92 ประเด็นความรู้โรคที่น้อยที่สุดได้แก่ บิดามารดาที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง บุตรมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ ตอบถูกร้อยละ 58 รองลงมาคือการสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงมีตอบถูกเพียงร้อยละ 69
ผู้อำนวยการกองสุขศึกษากล่าวอีกว่า กองสุขศึกษาจะร่วมมือกับเครือข่ายสุขภาพ ทั้งภาครัฐ เอกชน แกนนำสุขภาพ และอาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งรณรงค์โดยเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรค ซึ่งไม่เพียงแต่โรคความดันโลหิตสูงเท่านั้น พฤติกรรมเหล่านี้ยังโยงใยกับโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคมะเร็ง อีกด้วย โดยเน้นหนัก 2 เรื่องการกินให้หลากหลาย โดยเฉพาะการเพิ่มผักให้มากขึ้น และการออกกำลังกายจนติดเป็นนิสัย
*************************** 13 กรกฎาคม 2551
View 11
13/07/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ