ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 16 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์โควิด 19 เริ่มทรงตัวและอาจลดลง หากสถานการณ์ดีขึ้นพร้อมพิจารณาปรับลดระดับการแจ้งเตือนภัยและเสนอ ศบค.ปรับลดมาตรการ ส่วนวัคซีนทุกสูตรพบมีประสิทธิผลป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากแต่ละสายพันธุ์สูง 90-100% การฉีดเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มการป้องกันติดเชื้อให้สูงได้ เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ตั้งเป้าจังหวัดแซนด์บ็อกซ์ให้ได้ 50% ขณะที่เตียงรักษายังมีเพียงพอ เน้นเข้า HI/CI ก่อน
วันนี้ (14 มกราคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
นายอนุทินกล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่ 2565 จนถึงวันนี้ มีสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคลดลง ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจและเข้าไอซียูไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงขาลงไม่เกิน 20 รายต่อวัน ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ต่างๆ สอดคล้องกันว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนติดง่ายแต่รุนแรงไม่เท่าเดลตา ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนข้อเสนอจากคณะแพทย์ สถาบันการแพทย์ต่างๆ ที่ให้มีมาตรการที่ประชาชนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากที่สุด และเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุดและเร็วที่สุด และพร้อมเสนอมาตรการเพิ่มหากมีสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 7,916 ราย มาจากต่างประเทศ 242 ราย และเสียชีวิต 15 ราย ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบพบ 510 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย แนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ช่วงแรกของเดือนมกราคม 2565 พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ผ่านมา 14 วัน สถานการณ์การติดเชื้อเริ่มทรงตัวและอาจลดลงได้ ส่วนสถานการณ์เสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมและเชื้อลดความรุนแรงลง ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดีขึ้นจะมีการพิจารณาลดระดับการเตือนภัยประชาชนจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 4 โดยยังขอให้ประชาชนป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา งดเข้าสถานที่เสี่ยง และชะลอการเดินทาง
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ฉีดสะสม 108.5 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 51.6 ล้านคน ครอบคลุมประชากร 76.92% เข็มสอง 47.2 ล้านคน ครอบคลุม 70.32% และเข็มสาม 9.15 ล้านคน ครอบคลุม 13.63% โดยจะพยายามเร่งฉีดเข็ม 3 ในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ให้ถึง 50% ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกระดับ
สำหรับมาตรการรับมือโอมิครอนมี 4 ด้าน คือ 1.มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อชะลอการระบาด ซึ่งที่ผ่านมา 14 วัน ถือว่าการระบาดอยู่ในการควบคุม ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือ และขอความร่วมมือฉีดวัคซีน คัดกรองตนเองด้วย ATK ต่อไป 2.มาตรการการแพทย์ เน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน โดยจัดยา เวชภัณฑ์ พร้อมติดตามอาการทุกวัน ถ้าอาการเพิ่มขึ้นจะส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาล 3.มาตรการทางสังคม ขอให้ร่วมมือป้องกันตนเองสูงสุด สถานประกอบการใช้ COVID Free Setting และ 4.มาตรการสนับสนุน เรื่องค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ ให้มีความเหมาะสม และขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินตามมาตรการ VUCA คือ V ไปฉีดวัคซีนตามกำหนด U ป้องกันตนเองกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา C ใช้ COVID Free Setting ทำให้สถานที่ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการมีความปลอดภัย และ A ตรวจ ATK เป็นประจำ
นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่จริง ตั้งแต่ช่วงสิงหาคม - ธันวาคม 2564 จากการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ใน 4 พื้นที่ ซึ่งแต่ละช่วงเวลามีการระบาดของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้ 1.ภูเก็ต ช่วงเดือนสิงหาคมมีสายพันธุ์อัลฟา 2.กทม. ช่วงกันยายน-ตุลาคม มีทั้งอัลฟาและเดลตา 3.เชียงใหม่ ช่วงธันวาคม มีสายพันธุ์เดลตา และ 4.กาฬสินธุ์ ช่วงธันวาคม มีสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า วัคซีนทุกสูตรมีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงประมาณ 90-100% ส่วนการป้องกันการติดเชื้อมีประสิทธิผลสูงพอสมควร แต่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นหรือการฉีดสูตรไขว้ จะเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้น จึงช่วยควบคุมการระบาดได้ดี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายและรับเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ พบว่า มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตสูงไม่แตกต่างกัน ส่วนการรับเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์สามารถป้องกันโอมิครอนได้ 80-90%
“การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญ โดยผู้ที่ได้รับสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้าครบช่วงสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก ผู้ที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มช่วงสิงหาคม-ตุลาคม 2564 จะกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ และผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันว่าขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอ” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI & CI first) เนื่องจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และอีก 30% มีอาการไม่มาก แต่หากประเมินพบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงจะส่งไปยังฮอสปิเทล โรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลักต่อไป สำหรับข้อกังวลเรื่องสถานการณ์เตียงนั้น จากข้อมูลเตียงโรงพยาบาลและฮอสปิเทลเปรียบเทียบระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2565 ที่เริ่มพบจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากขึ้น และวันที่ 13 มกราคม 2565 พบว่า การใช้เตียงสีแดงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักลดลง โดยทั่วประเทศจาก 213 เตียง เหลือ 182 เตียง ส่วน กทม.คงเดิม คือ 25 เตียง, เตียงสีเหลืองมีการใช้เพิ่มขึ้น โดยทั่วประเทศจาก 1,681 เตียง เป็น 3,095 เตียง กทม. จาก 513 เตียง เป็น 1,246 เตียง เนื่องจากแพทย์ต้องการเฝ้าระวังสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยง และเตียงสีเขียวทั่วประเทศใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นเตียง ส่วน กทม.ใช้เพิ่มประมาณ 3 พันเตียง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเตียงยังมีเพียงรองรับได้
“เราเน้น HI/CI First เพื่อลดจำนวนการครองเตียงในโรงพยาบาล โดยในส่วนของ CI กทม.เตรียมไว้ 5-6 พันเตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการดูแลไม่ถึง 1 พันราย ขอย้ำว่าผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้ติดต่อสายด่วน 1330 โดยขอให้โรงพยาบาลที่ได้รับการประสานติดต่อผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด เพื่อประเมินอาการ ให้คำแนะนำในการดูแล จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ พร้อมติดตามประเมินอาการ ซึ่งถ้าอาการเปลี่ยนแปลงก็จะประสานเข้าระบบส่งต่อ และขอให้โรงพยาบาลต่างๆ รับผู้ป่วยเด็ก ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้จัดเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กมาเป็นที่ปรึกษาให้” นพ.สมศักดิ์กล่าว
ด้าน ทพ.อาคม กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ขยายศักยภาพโรงพยาบาลเอกชนในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ไปสู่โรงแรม เพื่อรองรับประชาชนที่มีอาการรุนแรงขึ้นให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยข้อมูลวันที่ 13 มกราคม 2565 ได้อนุมัติให้โรงพยาบาลเอกชนจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ฮอสปิเทล จำนวน 162 แห่ง รวม 49,137 เตียง ขณะนี้เปิดดำเนินการ 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง แบ่งเป็น ระดับ 1 สีเขียว 28,645 เตียง ครองเตียง 14,979 เตียง มีเตียงว่าง 13,666 เตียง หรือเกือบ 50% ระดับ 2.1 สีเหลือง 1,187 เตียง ครองเตียง 472 ราย มีเตียงว่าง 715 เตียง ระดับ 2.2 สีเหลืองที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ High Flow 352 เตียง ครองเตียง 55 เตียง ว่าง 297 เตียง และเตียงระดับ 3 สีแดง มี 56 เตียง ครองเตียง 4 เตียง ว่าง 52 เตียง
นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 7) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปรับลดอัตราค่าตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR จากเดิมฉบับแรก 3,125 บาท เป็น 1,300 -1,500 บาท และลดค่าห้องในรพ.สนามฮอสปิเทล จากเดิม 1,500 บาท เป็น 1,000 บาท โดยได้หารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนและกองทุนที่เกี่ยวข้อง ได้รับความร่วมมือจากเป็นอย่างดีในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดบริการให้กับประชาชน ส่วนกรณีประกันสุขภาพจะครอบคลุมการดูแลด้วย HI/CI ในกรณีการตรวจด้วย ATK หรือไม่ อธิบดี สบส.ได้มีการหารือกับรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่ง คปภ.จะนำสภาพปัญหาและรายละเอียดไปประชุมร่วมกับบริษัทประกันภัย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป
************************************* 14 มกราคม 2565
************************************