ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้เสียชีวิตด้วยโอมิครอน 2 ราย ติดเชื้อจากการสัมผัสคนในครอบครัว ปัจจัยเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ย้ำทุกคนป้องกันตัวเองสูงสุดแม้ในครอบครัว และเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นให้ครบตามเกณฑ์เพื่อเสริมสร้างภูมิคุมกัน ลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
วันนี้ (17 มกราคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยในวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,929 ราย จังหวัดที่มีอัตราการติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต นนทบุรี และขอนแก่น ซึ่งยังคงพบคลัสเตอร์ต่อเนื่อง เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงงาน สถานประกอบการ ตลาด งานสังสรรค์ พิธีกรรมทางศาสนา ค่ายทหาร นอกจากนี้ ยังมีการติดเชื้อในบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล ได้เข้มงวดและให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อลดผลกระทบในการให้บริการแก่ผู้ป่วย ส่วนจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวไม่พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ได้รับผู้เดินทางจากต่างประเทศเพิ่ม
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการปอดอักเสบลดลงช่วงกลางสัปดาห์และเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจมีอัตราลดลง ส่วนอัตราผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำคงตัว ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดี โดยในวันนี้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ในจำนวนนี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนถึง 11 ราย หรือร้อยละ 85 และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเฉลี่ย 82 ปี
สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตด้วยสายพันธุ์โอมิครอน 2 รายนั้น รายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 86 ปี จ.สงขลา มีโรคประจำตัว คือโรคอัลไซเมอร์ และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็ม ได้รับเชื้อจากบุคคลในครอบครัว มีอาการไข้ มีเสมหะ ผลเอกซเรย์พบความผิดปกติในเนื้อปอด ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนรายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี จ.อุดรธานี มีโรคประจำตัวคือ มะเร็งปอดระยะสุดท้าย เป็นผู้ป่วยติดเตียง ได้รับเชื้อจากบุคคลในครอบครัวเช่นกัน ไม่มีประวัติการได้รับวัคซีน ผู้ป่วยและญาติแยกกักรักษาตัวที่บ้าน และปฏิเสธการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยให้ยาตามแผนการรักษาและติดตามต่อเนื่อง ระดับออกซิเจนลดลง หายใจหอบเหนื่อยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของทั้ง 2 ราย คือ เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว จึงต้องขอย้ำให้ใช้มาตรการป้องกันตัวเองสูงสุดกับทุกคน แม้เป็นคนในครอบครัว และเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นตามกำหนด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุมกัน ลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
โดยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ในผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 ครบในช่วงเดือน สิงหาคม - ตุลาคม ให้กระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นหลัก และผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้า 2 เข็ม เมื่อเดือนสิงหาคม ให้กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ครบ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้า และผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ก่อนติดเชื้อให้กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้า
************************************* 17 มกราคม 2565