ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ข้อมูลการติดเชื้อหลังเทศกาลปีใหม่ พบ 87% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจทำให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเสียชีวิตได้ สาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่จากสัมผัสคนในครอบครัว ขอให้เร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 

         วันนี้ (21 มกราคม 2565) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  ขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วประมาณ 112 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรก 72.1% เข็มที่สอง 66.6% และเข็มที่สาม 15.8% โดยช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ได้กำชับให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามสูตรที่กำหนด เช่น สูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ให้กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า  หรือถ้าฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 เข็ม ให้กระตุ้นด้วยไฟเซอร์  เพื่อให้บริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ได้ถูกต้อง ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาเป็นวัคซีนที่ดี โดยในปีนี้ได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60 ล้านโดส และไฟเซอร์ อีก 30 ล้านโดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 สำหรับแผนในเดือนกุมภาพันธ์ จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น 

          นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า วัคซีนที่ประเทศไทยฉีดมาแล้วกว่า 100 ล้านโดส มีผลข้างเคียงต่ำมาก และอัตราการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนน้อยมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ซึ่งการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อโอมิครอน จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าหลังเทศกาลปีใหม่ พบ 87% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมักไม่แสดงอาการและอาการไม่รุนแรง แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังพบว่าผู้ที่เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ เป็นผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ถึง 159 ราย อายุ 60-69 ปี  58 ราย อายุ 50-59 ปี 33 ราย ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อายุน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ดังนั้น กลุ่ม 607 จำเป็นต้องได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนให้มากที่สุดทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ถึงแม้การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ชัดเจน ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 76% เข็มที่สอง 70% เข็มที่สาม 15.4% หากนับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปรวมกับผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจะได้รับฉีดวัคซีนเข็มที่สามแล้ว 10% 

           “ขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อจากบุตรหลานและผู้ที่มาเยี่ยม ส่วนบุตรหลาน และผู้ที่เดินทางไปเยี่ยม ต้องระมัดระวัง ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ก่อนใกล้ชิดผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัย” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว


**************21 มกราคม 2565



   
   


View 355    21/01/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ