ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ พบมีความเป็นเลิศด้านการคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม ช่วยลดการเกิดเด็กดาวน์รายใหม่ได้ผล และมีการพัฒนาการตรวจคัดกรองด้วยวิธี NIPT ได้ผลดี ราคาลดลงจากภาคเอกชนกว่าครึ่ง ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test พบเป็นสายพันธุ์ที่วัคซีนยังไม่ครอบคลุม เตรียมผลักดันให้เกิด BIG DATA เพื่อนำไปวิจัยและผลิตเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกสำหรับสายพันธุ์ที่มีในไทย
วันนี้ (29 มกราคม 2565) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงวิพรรณ สังคหพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมและมะเร็งปากมดลูกของประเทศ และกล่าวว่า ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งให้บริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมได้มากกว่าปีละ 200,000 ราย ที่ผ่านมาได้มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถลดการเกิดเด็กดาวน์ซินโดรมรายใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันมีการพัฒนาการตรวจคัดกรองด้วยวิธี NIPT ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าวิธี Quadruple Test ที่ใช้อยู่เดิม เพื่อลดภาระงานของแพทย์ในการเจาะน้ำคร่ำ และมีราคาถูกกว่าการตรวจโดยห้องปฏิบัติการของเอกชนมากกว่าครึ่ง ซึ่งจะให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้เข้าสู่สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป เพื่อให้เด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประเทศ มีอัตราการป่วยเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงรองจากโรคมะเร็งเต้านม แต่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 1 จากการนำร่องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test ในเขตสุขภาพที่ 3 ปี 2564 จำนวน 28,806 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์ 16 และ 18 ร้อยละ 1.39 ซึ่งมีวัคซีนป้องกัน แต่ที่สำคัญคือ พบสายพันธุ์อื่นๆ อีกร้อยละ 6.64 ที่วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังไม่ครอบคลุม ซึ่งหากมีการรวบรวมเป็น Big Data ของประเทศ จะเป็นประโยชน์ในการนำไปวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกของไทยเองที่เฉพาะเจาะจงกับสายพันธุ์ที่ตรวจพบในประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังมีการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพของประเทศอยู่แล้ว จะได้นำข้อมูลเรื่องนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบข้อมูลสุขภาพด้วย
************************************ 29 มกราคม 2565