ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจง "โอมิครอน" ติดง่าย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง เนื่องจากประชาชนร่วมมือมารับวัคซีนจำนวนมาก ย้ำยังต้องระวังตัวป้องกันโรคเข้มข้น
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ว่า สายพันธุ์ "โอมิครอน" เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ได้ง่าย แต่ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา และคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว แม้ปัจจุบันผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อ 3,500-4,000 คนต่อวัน ถือว่าอัตราป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง และหากเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อกับประเทศอื่นทั่วโลก จะเห็นได้ว่าไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่ามาก ซึ่งเป็นเพราะคนไทยให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการที่แนะนำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ขอย้ำให้มารับวัคซีนตามกำหนด ซึ่งขณะนี้กำลังฉีดเข็มกระตุ้น และขอให้ระมัดระวังตัวเอง เนื่องจากการติดเชื้อที่พบส่วนใหญ่มาจากการสังสรรค์และการรวมตัวกันจำนวนมาก จึงขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกันเป็นเวลานานเกินไป ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงอยู่บ้านที่มีผู้สูงอายุ ถ้าไปสถานที่เสี่ยงสูง เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่อากาศถ่ายเทไม่ดี อาจใส่หน้ากากเพิ่มเป็นสองชั้น และระวังตนเองตลอดเวลา
“การรายงานสถานการณ์ต่อจากนี้ อาจมีการปรับรูปแบบเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากที่สุด ซึ่งการรายงานสถานการณ์โควิดของประเทศไทย นานาชาติให้ความเชื่อมั่นว่ามีความโปร่งใส รวมทั้งไทยยังมีมาตรการเข้มข้นกว่าประเทศอื่น ส่วนการฉีดวัคซีน ยืนยันว่ามีการบริหารจัดการเพื่อให้ฉีดได้อย่างเพียงพอทุกเข็ม” นายอนุทินกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ในขณะนี้ เป็นไปตามการคาดการณ์และควบคุมได้ จากช่วงแรก อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2% ขณะนี้ลดลงมาเหลือประมาณ 0.22% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ส่วนการฉีดวัคซีนมีผลการศึกษาพบว่า หลังฉีดเข็มสองไปแล้วช่วงเวลาหนึ่งภูมิคุ้มกันจะลดลง ดังนั้น จำเป็นต้องฉีดเข็มสามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่ม ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายเบื้องต้นว่า การฉีดเข็มหนึ่งและสองรวมกันควรได้ประมาณ 80% ของประชากร และเข็มสามควรได้ 80-90% ของเข็มสอง เพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์ได้
************************************** 7 กุมภาพันธ์ 2565
****************************************************