กระทรวงสาธารณสุข ฝึกซ้อมความพร้อมเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ จ.สุราษฎร์ธานี สร้างความมั่นใจประชาชนและนักท่องเที่ยว ขณะนี้ทั่วประเทศมีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินกว่า 6,000 ทีม เจ้าหน้าที่กว่า 80,000 คน รอบ 9 เดือนปีนี้ ออกปฏิบัติการเกือบ 6 แสนครั้ง ถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีกว่าร้อยละ 70 ส่วนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ขณะนี้คืบหน้า ได้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติแล้ว คาดจะคัดเลือกเลขาธิการสถาบันฯ แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมแน่นอน
วันนี้ (23 กรกฎาคม 2551) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด สุราษฎร์ธานี เปิดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ที่ท่าเรืออเนกประสงค์ดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 4 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ทหารอากาศกองบิน 7 กองพลที่ 4 อำเภอดอนสัก เทศบาลตำบลดอนสัก มูลนิธิและอาสาสมัครกู้ชีพ อปพร. และเครือข่ายมดดำ-มดแดง ซึ่งเป็นชาวประมงในพื้นที่ เพื่อซักซ้อมความพร้อมระบบการกู้ภัยกู้ชีพ ระบบการประสานงาน การสื่อสารระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดทักษะในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างดีที่สุด และสร้างความมั่นใจในการเดินทางทางเรือมากขึ้น
การซ้อมแผนในวันนี้ ได้จำลองสถานการณ์เรือโดยสารข้ามฟากบริษัทซีทรานเฟอร์รี่ จำกัด ซึ่งแล่นจากอำเภอดอนสักไปเกาะสมุย บรรทุกรถยนต์ 50 คันพร้อมผู้โดยสาร 100 คน เกิดเหตุไฟไหม้ที่ห้องระวางบรรทุกชั้นล่าง ขณะอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่ง 0.5 ไมล์ ทุกหน่วยงานร่วมกันอพยพและช่วยเหลือผู้โดยสารที่รอดชีวิตและบาดเจ็บขึ้นฝั่งและนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
นายวิชาญกล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยมีโอกาสเกิดภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ภัยจากการก่อการร้าย และอุบัติเหตุหมู่ทั้งทางบก ทะเล และทางอากาศ จึงต้องจัดเตรียมระบบการช่วยชีวิตประชาชนให้มีความพร้อมทุกรูปแบบ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับการปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย อุบัติเหตุต่างๆและป่วยฉุกเฉินทุกประเภท ตลอด 24 ชั่วโมง รับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ 1669 ฟรี ขณะนี้มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานกับศูนย์นเรนทรแล้ว 6,610 หน่วย ครอบคลุมพื้นที่ถึงระดับตำบลทั่วประเทศ มีอาสาสมัครกู้ชีพทั้งภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิต่างๆ ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 84,303 คน
ขณะเดียวกันได้ทำแผนปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับกรมบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งได้จัดฝึกซ้อมการปฏิบัติการร่วมกันต่อเนื่อง ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ ซึ่งจากที่ชมการฝึกซ้อมแผนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีครั้งนี้อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ในเดือนหน้านี้จะฝึกซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสารเคมีที่จังหวัดระยองด้วย
นายวิชาญกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการบังคับใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2551 เป็นต้นมา ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1 ชุด ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เลขาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนแพทยสภา 2 คน ผู้แทนสภาการพยาบาล 1 คน ผู้แทนจากสถานพยาบาล 2 คน จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน และจากองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการบัญชี กฎหมาย การแพทย์ฉุกเฉิน และอื่นๆ ไม่เกิน 4 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยจะมีการคัดเลือกเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้
คณะกรรมการดังกล่าว ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงาน ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการรับรององค์กร หลักสูตรการศึกษาและการฝึกอบรมหน่วยกู้ชีพของประเทศไทย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยได้รับการพัฒนามาตรฐานอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนประเทศที่เจริญแล้ว นายวิชาญกล่าว
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยผู้ป่วยที่ใช้บริการห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องการรถพยาบาลฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาล ร้อยละ 31 ประกอบด้วย ผู้ป่วยในภาวะวิกฤติร้อยละ 3 และผู้ป่วยเร่งด่วนร้อยละ 28 ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2551 หน่วยกู้ชีพได้ออกปฏิบัติการ 573,930 ครั้ง ในจำนวนนี้ร้อยละ 54 เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น โรคประจำตัวกำเริบ พลัดตกหกล้ม จมน้ำ ร้อยละ 33 เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งรวมแล้วมากกว่าปี 2550 ถึงร้อยละ 22 และแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงโอกาสรอดชีวิตของประชาชนจะมีมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
สำหรับการแจ้งขอความช่วยเหลือทางโทรศัพท์หมายเลข 1669 มีประชาชนใช้บริการร้อยละ 48 โดยหลังรับแจ้งเหตุ หน่วยกู้ชีพสามารถออกปฏิบัติการถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งเขตเมืองและชนบทร้อยละ 72 ช่วยลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนจากการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธีได้มาก
******************************** 23 กรกฎาคม 2551
View 15
23/07/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ