รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาสุขภาพของประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากการบริการประชาชนในพื้นที่ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้สุขภาวะประชาชนต่ำกว่าพื้นที่อื่น ทำแผนเชิงรุก ตั้งศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขปัญหาสาธารณสุข เชิญผู้นำศาสนา สถาบันวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ ร่วมวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพในครอบครัว ในพื้นที่ที่มีปัญหาในการเข้าถึง นำร่องใน 4 หมู่บ้าน ในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส วันนี้ (26 ตุลาคม 2549) ที่จังหวัดปัตตานี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล เพื่อรับทราบปัญหาการทำงานในพื้นที่ และหารือแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในภาคใต้ ที่ประชาชนในพื้นที่ยังมีปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้สุขภาวะของประชาชนต่ำกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นเวลาต่อเนื่องกันมาเกือบ 3 ปี ทำให้หลายคนมองว่าปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น งานอนามัยแม่และเด็ก อัตราตายของมารดาและเด็กหลังคลอด สุขภาพเด็ก สุขภาพผู้สูงอายุ รวมทั้งโรคซีดจากโลหิตจาง สูงกว่าที่อื่นของประเทศ มีสาเหตุเนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งที่จริงแล้วทุกพื้นที่ของประเทศก็ขาดแคลนบุคลากรเช่นกัน ที่ภาคใต้ก็ขาดแคลนไม่มากไปกว่าพื้นที่อื่น แต่ปัญหาสำคัญที่พบคือ การเข้าถึงประชาชน และการที่ประชาชนเข้ารับบริการยังไม่ทั่วถึง อาจเนื่องมาจากความลำบากในการเข้าถึง ความปลอดภัย ทำให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ไม่เต็มที่ “ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาเรื้อรังติดต่อกันมานาน ทั้งปัญหาบุคลากร งบประมาณ และการดำเนินการก่อสร้าง แม้กระทรวงสาธารณสุขจะทุ่มงบประมาณมาดูแล แต่ปัญหาสุขภาพของประชาชนยังมีอยู่ ขอให้เจ้าหน้าที่คำนึงถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าให้ปัญหาความไม่ปลอดภัยมาบั่นทอนการทำงาน ให้ประชาชนถูกทอดทิ้ง ต้องหาวิธีการเข้าถึงประชาชน ให้บริการประชาชนให้ดีที่สุด โดยให้ยึดเอาวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก” นายแพทย์มงคลกล่าว ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามหาแนวทางการเข้าถึงประชาชน เพื่อดำเนินงานแก้ไขสภาวะสุขภาพประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะลดอัตราตายของมารดาให้ไม่เกิน 18 ต่อแสนการเกิดมีชีพ ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 33.2 ต่อแสนการเกิดมีชีพ และภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 19.16 นอกจากนี้ จะให้ดำเนินการสร้างสุขภาพเพื่อลดโรคที่ป้องกันได้ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารระบบสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวบรวมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ที่รู้ปัญหา ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ช่วยกันทำงานหาวิธีการทำงานที่เหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับวัฒนธรรม วิถีชุมชน เน้นการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน โดยมีภารกิจหลัก 3 ประการ คือ 1.บริการสุขภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่ 2.บริการสุขภาพในฐานะองค์กรสันติภาพ ภารกิจของสาธารณสุขคือ การรักษาผู้ประสบเหตุ ไม่ว่าอยู่ฝ่ายใดก็ตาม และ 3.ปกป้องผู้ให้บริการและองค์กรบริการสุขภาพ โดยจะมอบอำนาจการสั่งการให้ผู้อำนวยการศูนย์ บริหารทั้งงบประมาณ บุคลากร และการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้ จะจัดอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพให้ทุกครัวเรือน ในพื้นที่ที่มีปัญหาการเข้าถึงประชาชน โดยเชิญผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน แกนนำสตรีในท้องถิ่น มาอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพ เป็นแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว รู้จักดูแลตนเองและครอบครัว รวมทั้งครอบครัวอื่นๆ คล้ายๆ เป็นอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และจดได้จัดงบประมาณจ้างอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน เข้าทำงานกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อช่วยเป็นตัวเชื่อมให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงประชาชน จะทดลองนำร่องในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ของตำบลตันหยงมัส อำเภอ ระแงะ จังหวัดนราธิวาส ที่ค่อนข้างมีปัญหาในการเข้าถึงประชาชนค่อนข้างสูง ก่อนจะประเมินผลและนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นต่อไป ************************************ 26 ตุลาคม 2549


   
   


View 11    26/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ