ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 16 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์วันวันไตโลก ปี 2565 “เสริมสร้างภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรัง ตั้งเป้าให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควบคุมระดับความดันโลหิตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ส่วนประชาชนทั่วไปให้ประเมินความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ด้วยแบบประเมิน THAI CKD RISK SCORE ที่มีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 80
วันนี้ (10 มีนาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รศ.นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ศ.นพ.มล.ชาครีย์ กิติยากร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในวันไตโลก ปี 2565 ภายใต้คำขวัญ “เสริมสร้างภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต”
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ภาครัฐได้ใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ คิดเป็นร้อยละ 70 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายในการดูแลสุขภาพประชาชนโดยมุ่งเน้นการสร้างเสริม ป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ มากกว่าการรักษาพยาบาลเมื่อป่วยแล้ว โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ (Service plan) ได้บูรณาการดำเนินงานของสาขาโรคไม่ติดต่อ (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด) ร่วมกับสาขาไต และสาขาการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชน สร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับโรคไต เพื่อลดผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่และชะลอภาวะไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ และได้รับการบำบัดทดแทนไตอย่างทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การคัดกรองความเสี่ยงโรคไต ควบคู่กับการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงให้ได้รับการตรวจและวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรังโดยตั้งเป้าให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และป้องกันการเกิดผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ด้วยการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ขยายพื้นที่การดำเนินงานป้องกันโรคไตในชุมชน ตลอดจนมีการเฝ้าระวังและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล และพัฒนาแผนการป้องกันควบคุมโรคไตเรื้อรังในระยะ 10 ปี ภายใต้ชื่อ “ทศวรรษการป้องกันโรคไต” พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการ ประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตใน 10 ปีข้างหน้า ด้วยแบบประเมิน THAI CKD RISK SCORE
นพ.โอภาส กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก โรคไตเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 10 ของโลก มีผู้เสียชีวิตถึงปีละ 1.4 ล้านคน สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยประมาณการว่ามีผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 1-5 มากถึง 8 ล้านคน หรือร้อยละ 17.5 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป และมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตปีละประมาณ 20,000 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไตเรื้อรัง ร้อยละ 80 เกิดจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น การบริโภคอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง การรับประทานยาไม่เหมาะสม เช่น การใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกต้องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
รศ.นพ.ศัลยเวทย์ กล่าวว่า ในปีนี้ สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค และ สปสช. ขยายผลรูปแบบการป้องกันโรคไตในชุมชน หรือ CKD โมเดลในชุมชน ซึ่งใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนต่าง ๆ เน้นการจัดการความเสี่ยงของการเกิดโรคไตในชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต
ศ.นพ.มล.ชาครีย์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้พัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตใน 10 ปีข้างหน้า THAI CKD RISK SCORE ซึ่งมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 80 และเหมาะสมกับคนไทยเป็นอย่างมากสามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ https://www.rama.mahidol.ac.th/kidney_disease_risk/Thai_CKD_risk_score/ หรือทางเว็บไซต์ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยรศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกำหนดคำขวัญวันไตโลกในปีนี้ว่า “เสริมสร้างภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” เพื่อต้องการให้ทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต โดยจัดกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 6 - 13 มีนาคม 2565 ในรูปแบบออนไลน์ ผ่าน Facebook Live ของสมาคมฯ ในวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2565 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคไตและการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บรรจุชุดสิทธิประโยชน์การให้บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ทั้งโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง แยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้ประชาชนได้รับการคัดกรองตั้งแต่ยังไม่ป่วย และได้รับการดูแลควบคุมอาการที่เหมาะสม ลดจำนวนผู้ที่จะป่วยเป็นโรคไตได้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เพื่อชะลอการเสื่อมของไตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย
****************************************** 10 มีนาคม 2565
*****************************