ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กำหนดเกณฑ์อาการ “โควิด” สีเหลือง และสีแดง รองรับสิทธิ UCEP Plus ที่จะเริ่มวันที่ 16 มีนาคมนี้ พร้อมทำความเข้าใจโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ย้ำกลุ่มสีเขียวยังรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ ส่วนสีเหลืองและสีแดงที่เข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน รักษาฟรีได้ทุกโรงพยาบาล เตรียมหารือปรับจำนวนวันรักษาในโรงพยาบาลจาก 10 วัน เป็น 7+3
วันนี้ (15 มีนาคม 2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่จะเริ่มวันที่ 16 มีนาคม 2565 นี้ ผู้ป่วยยังได้รับการรักษาฟรีทุกราย โดยกลุ่มอาการสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย รักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายที่มีสิทธิการรักษาอยู่เหมือนกับการรักษาโรคอื่น ๆ และใช้ระบบรักษาที่บ้าน/ชุมชน (HI/CI) หรือฮอสปิเทลได้เช่นเดิม รวมถึงการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ส่วนผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดง ตามเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสพฉ. ได้ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว โดยกลุ่มอาการสีเหลือง ได้แก่ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย ปอดอักเสบ ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน เด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ไม่ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง กลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ อ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มอาการสีแดง ได้แก่ หอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา แน่นหน้าอก หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะช็อก มีภาวะโคมา ซึมลง มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง และค่าออกซิเจนในกระแสเลือดน้อยกว่า 94%
สำหรับจำนวนวันรักษาโควิด 19 ในโรงพยาบาล ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 10 วัน จะมีการหารือปรับลดเป็นลักษณะ 7 + 3 คือ รักษาในโรงพยาบาล 7 วัน และกลับไปแยกกักตัวที่บ้านต่ออีก 3 วัน เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโควิด 19 มากขึ้น แต่ทั้งนี้จะมีการพิจารณาบนหลักของความปลอดภัย ส่วนยารักษาโควิด 19 โมลนูพิราเวียร์ที่นำเข้ามา จะใช้ทั้งในกลุ่ม 608 และคนทั่วไป เพื่อเปรียบเทียบผลการใช้กับยาฟาวิพิราเวียร์ หากได้ผลดีสามารถจัดหายาโมลนูพิราเวียร์จากแหล่งผลิตในจีนและอินเดียในราคาที่ใกล้เคียงกับยาฟาวิพิราเวียร์ได้ ส่วนยาแพกซ์โลวิดกำลังจะนำเข้ามา
****************************************** 15 มีนาคม 2565