ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยองค์การอนามัยโลกให้ความเชื่อมั่นไทย เป็นประเทศลำดับที่ 3 เข้าร่วมจัดกิจกรรมนำร่องทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ แนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือรองรับวิกฤติด้านสาธารณสุขสำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต
วันนี้ (25 เมษายน 2565) ที่ โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (นำร่อง) หรือ Universal Health and Preparedness Review (UHPR) Pilot โดยมี ดร.สมิลา อัสมา (Dr. Samira Asma) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวม 200 คน ร่วมงาน
นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย ที่มีความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคมากที่สุด เป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกัน มีการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม (Whole-government and whole society response) ได้แก่ เครือข่ายภาคประชาชน อสม. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หน่วยงานด้านสาธารณสุข ภาคเอกชน และภาคธุรกิจอื่นๆ ผ่าน ศบค. ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทยในการขับเคลื่อนกฎหมายการดำเนินงานตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านช่วงวิกฤติมาได้
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) จึงเชิญให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบประเทศที่ 3 นำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาถ้วนหน้า ในการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก และไทยเป็นประเทศนำร่องที่จะได้เผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565 เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก และเกิดการพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่ รองรับวิกฤติด้านสาธารณสุขสำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการทบทวนอย่างครอบคลุมรอบด้าน ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ซึ่งต้องใช้การตอบโต้จากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การฝึกซ้อมสถานการณ์สมมติ (Simulation Exercise) การสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มย่อย, การพบผู้บริหารหน่วยงานระดับประเทศ และการตรวจเยี่ยมหน่วยงานระดับปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน และความท้าทายของประเทศไทยในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในระยะที่ผ่านมา
ดร.สมิลา กล่าวว่า กิจกรรมทบทวนการเตรียมความพร้อมเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวิธีใหม่ในการทำงานร่วมกันของประเทศต่างๆ เพื่อปรับปรุงการรับมือเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งในระหว่างภารกิจ 7 วันนี้ เราหวังว่าจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทยในการรับมือกับโรคโควิด 19 ที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายด้านสาธารณสุขที่น่าประทับใจ
นพ.จอส กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยแสดงความเป็นผู้นำ โดยการนำร่องการทบทวนการเตรียมความพร้อมเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือแบบใหม่เพื่อทำให้ประชาชนทั่วโลกปลอดภัยจากวิกฤตสาธารณสุข ผมเชื่อว่าประสบการณ์ที่เข้มข้นของประเทศไทยในการพัฒนาระบบสาธารณสุข และการรับมือต่อโรคโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน
************************************** 25 เมษายน 2565
**************************************