กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบการให้คำปรึกษา พร้อมเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ฝึกทักษะ ผ่านเว็บไซต์ https://oscc.consulting และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และมีผู้เชี่ยวชาญดูแลความเครียดจากงานและเรื่องส่วนตัว ช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านคุ้มครองเด็ก เพิ่มประสิทธิภาพงานคุ้มครองเด็กในสถานพยาบาล

        วันนี้ (27 เมษายน 2565) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นางสาวราภรณ์ พงศ์พนิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงข่าวเปิดโครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย

        นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี และได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใช้ชื่อว่า “ศูนย์พึ่งได้” (One Stop crisis center หรือ OSCC) ปัจจุบันมี 10,611 แห่ง ให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีรวม 247,480 ราย โดยทีมสหวิชาชีพแบบครบวงจร ทั้งด้านสุขภาพกาย จิตใจ สังคม กฎหมาย การฟื้นฟู ตลอดจนการคืนสู่สังคม ซึ่งกระบวนการดำเนินงานต้องทำด้วยความละเอียดอ่อน ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะหลายด้าน รวมถึงต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานเครือข่ายภายนอกกระทรวง เช่น กระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรทางสังคม

           นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE Foundation – Fight Against Child Exploitation) จัดโครงการฯ เพื่อพัฒนารูปแบบและเพิ่มช่องการการเรียนรู้ ฝึกทักษะ และรับการปรึกษาผ่านเว็บไซต์ https://oscc.consulting ให้แก่บุคลากรผู้รับผิดชอบงานศูนย์พึ่งได้ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคสังคม รวมถึงช่องทางระบบออนไลน์ต่างๆ ที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ เฟซบุ๊ค เว็บไซต์ ประชุมออนไลน์ e-learning เป็นต้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะในการทำงานเชิงลึก การปรับทัศนคติ โดยสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมในระหว่างการปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา รวมถึงยังได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญในการจัดการปัญหาความเครียด ความกังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านคุ้มครองเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

************************************** 27 เมษายน 2565

**************************************

 



   
   


View 2899    27/04/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ