รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย 7 ทิศทางนโยบายเพื่อเดินหน้า “โควิด” สู่โรคประจำถิ่น ชี้เป็นโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ ยันหากควบคุมโรคได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะเดินหน้าเป็นโรคประจำถิ่นตามเป้าหมายต่อไป ส่วนมาตรการผ่อนคลายขึ้นกับพื้นที่และสถานการณ์

         วันนี้ (6 พฤษภาคม 2565) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบรรยายพิเศษ “ทิศทางและนโยบายภาครัฐ หลังการประกาศโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น” ว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โรคโควิด 19 ได้อย่างดี ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงระยะทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง ทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และผู้เสียชีวิต สำหรับการเดินหน้าสู่โรประจำถิ่นนั้น แม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนและยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องการกลายพันธุ์ แต่จากการติดตามยังเป็นการกลายพันธุ์ย่อยที่ไม่มีผลเรื่องความรุนแรงและการแพร่ที่รวดเร็ว ส่วนประเทศไทยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหากดำเนินการได้ตามนั้นก็พร้อมที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายคือช่วงกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

          ดร.สาธิตกล่าวว่า สำหรับทิศทางและนโยบายด้านสุขภาพเพื่อเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น สอดคล้องกับข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกที่มาจัดกิจกรรมทบทวนการเตรียมความพร้อมในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า กรณีโควิด 19 ของประเทศไทย ซึ่งมี 7 เรื่อง ได้แก่ 1.การเพิ่มการลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาเรามีไทยชนะ หมอชนะ รวมถึง “หมอพร้อม” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหญ่อันดับ 2 ของประเทศรองจากเป๋าตัง มีข้อมูลมากกว่า 25 ล้านการลงทะเบียน นอกจากนี้ ครม.กำลังหารือทำแพลตฟอร์มแห่งชาติ ภายใต้กรอบวงเงินอนุมัติ 7 พันล้านบาท เพื่อทำข้อมูลกลางที่มีความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

        2.การเตรียมพร้อมรับมือการระบาดครั้งต่อไปและพัฒนาบุคลากรสหสาขา ทั้งโรคทั่วไป โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภาวะลองโควิดและมิสซี 3.การดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการรักษาตามสิทธิ 4.ยกระดับการพึ่งพาตนเองด้านยา วัคซีน ชุดตรวจ และเวชภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้ไทยมีวัคซีน 3 ตัวที่ก้าวหน้าคือ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนใบยา และวัคซีนของจุฬาฯ 5.การจัดการขยะทางการแพทย์หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมามีการปลดล็อกกฎหมายให้เตาเผาขยะนิคมอุตสาหกรรมใช้เผาขยะติดเชื้อได้ชั่วคราว  6.พัฒนากลยุทธ์การบูรณาการข้อมูล ซึ่ง ศบค.มีการรวบรวมข้อมูลหน่วยงานต่างๆ นำมาสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน และ 7.การค้นหา บันทึก และเผยแพร่ตัวอย่างที่ดี รวมทั้งบทเรียนสำคัญในการจัดการกับภาวะระบาดใหญ่

         “เมื่อโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างงาน และประเทศจะมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น ส่วนจะผ่อนคลายมาตรการและการปฏิบัติตัว เช่น การถอดหน้ากากอนามัย ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานการณ์ หัวใจสำคัญคือ ต้องก้าวข้าม อยู่กับโควิดอย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน และเดินหน้าเศรษฐกิจให้ได้” ดร.สาธิตกล่าว

 ******************************************  6 พฤษภาคม 2565


 ******************************************



   
   


View 2818    06/05/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ