ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย การเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 เป็นไปอย่างราบรื่น ที่ประชุมเลือก "เทดรอส" เป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก อีก 1 วาระ ได้หารือทวิภาคีร่วมมาเลเซีย แบ่งปันการดำเนินงานกัญชากัญชงทางการแพทย์ การจัดซื้อยาและวัคซีนรวม แลกเปลี่ยนประสบการณ์นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิกับคาซัคสถาน พร้อมให้องค์การอนามัยโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สนับสนุนงานด้านสาธารณสุขในภูมิภาคผ่าน 2 ศูนย์อาเซียนที่ตั้งในไทย
วันนี้ (25 พฤษภาคม 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าการนำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2565 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่า ในการประชุมวันที่ 23 พฤษภาคม ตนได้กล่าวถ้อยแถลงหัวข้อ “Health for Peace and Peace for Health” โดยย้ำถึงนโยบายสาธารณสุขของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม ด้วยนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุข พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกองค์การอนามัยโลกทุกประเทศร่วมกันช่วยเหลือสนับสนุนด้านสาธารณสุขแก่ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ที่ทำงานในแนวหน้า ซึ่งการร่วมกันดูแลสุขภาพของประชากรของทุกประเทศ ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง และประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประชาคมโลกในการไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
นายอนุทินกล่าวต่อว่า การประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งนี้ มีวาระสำคัญ เช่น การเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ซึ่งนายเท็ดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เป็นสมัยที่ 2 การเตรียมความพร้อมและการรับมือกับภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอและแบ่งปันประสบการณ์การรับมือภาวะฉุกเฉินกรณีโควิด 19 ต่อประเทศสมาชิก โดยระหว่างการประชุมได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ซึ่งมีการแสดงความยินดีที่ไทยและมาเลเซียได้เริ่มเปิดพรมแดนทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำระหว่างกัน หลังดำเนินมาตรการที่เข้มงวดในช่วงการระบาดของโควิด 19 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียได้ชื่นชมความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย และเสนอเรื่องการจัดซื้อรวมของภูมิภาคอาเซียน ไม่เฉพาะยาและวัคซีนสำหรับโควิด แต่รวมถึงยาประเภทอื่นๆ เช่น ยารักษาโรคเขตร้อนต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความคืบหน้านโยบายสนับสนุนการใช้กัญชา กัญชงทางการแพทย์และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ซึ่งประเทศไทยยินดีแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินการทางนโยบายและทางปฏิบัติ รวมถึงยังได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเข้าร่วมการประชุม APEC High level meeting ระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค. 2565 และพิธีการเปิดศูนย์ ACPHEED ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่กรุงเทพฯ ด้วย
ส่วนการหารือทวีภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศคาซัคสถาน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับทั้ง 2 นโยบายอย่างต่อเนื่องในเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลไกที่แข็งแกร่งในการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ มีการพัฒนาระบบให้แข็งแรงและยั่งยืน และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ แนวทางปฏิบัติแก่ประเทศอื่นๆ ขณะที่การหารือกับ ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเด็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับสำนักงานองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ดร.พูนาม ได้ชื่นชมประเทศไทยเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่อกระจายวัคซีนโควิด 19 การสื่อสารกับประชาชนในประเด็นต่าง ๆ ในช่วงการเกิดโรคระบาด ซึ่งการที่ไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) และ ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Center for Active Aging and Innovation :ACAI) จะเป็นโอกาสดีที่องค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะให้การสนับสนุนด้านสาธารณสุขแก่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างทั่วถึงผ่านศูนย์ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 3 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย เมียนมา และอินโดนีเซีย ที่เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
********************************************* 25 พฤษภาคม 2565