หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แจงประเด็นการกระจายวัคซีนลงพื้นที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน ตามข้อมูลและสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการหลายชุด ทั้งชนิด ปริมาณ จำนวน และกลุ่มเป้าหมายในการฉีด

       นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่เพจเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบทวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของภาครัฐและมีคำถาม เรื่องการส่งวัคซีนลงพื้นที่ ในจำนวนมากใครได้ประโยชน์ ว่า คำตอบคือ ประชาชน ที่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามความต้องการ การควบคุมโรคระบาดมีประสิทธิภาพ การสาธารณสุขมีความมั่นคง ในส่วนของปัญหาการจัดเก็บ และทำลายนั้น มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรู้ลำดับวิธีการ ไม่ใช่การตัดสินใจที่อุดมไปด้วยความเสี่ยง หรือมีอันตรายแต่อย่างใด ส่วนเรื่องวัคซีนซิโนแวคขอย้ำว่าปัจจุบันยังมีความต้องการใช้ โดยเฉพาะกับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป ที่ต้องการจะกระตุ้นเข็ม 3 รวมถึงประชาชนที่ไม่ประสงค์รับวัคซีนแบบไวรัล เว็คเตอร์ หรือ mRNA 

       “ที่ผ่านมา สธ. และศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) มีกลไกการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ทั้งชนิด ปริมาณ จำนวน และกลุ่มเป้าหมายในการฉีด ผ่านคณะกรรมการหลายชุด เช่น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ศปก.สธ. และ ศบค.ที่เป็นผู้อนุมัติสุดท้าย ทั้งนี้ แผนของปี 2564 จัดซื้อทั้งหมด 121 ล้านโดส ฉีดได้ 104.4 ล้านโดส แผนของปี 2565 จัดซื้อ 120 ล้านโดส มีการอนุมัติจาก ศบค. และลงนามซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบ 36 ล้านโดส ฉีดแล้ว 34 ล้านโดส และยังมีวัคซีนส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการบริจาค เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และโคโวแวกซ์ รวมทั้งหมด 13 ล้านโดส ขณะเดียวกัน ไทยก็ได้บริจาควัคซีนให้กับประเทศขาดแคลน เช่น ประเทศแถบแอฟริกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการจัดหา กระจายวัคซีนของเราไม่ได้ทำไปโดยพละการ แต่มีการวิเคราะห์กันอย่างดี และมีกระบวนการต่อเนื่อง” นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าว

***************** 8 มิถุนายน 2565



   
   


View 2240    08/06/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ