ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระดมความร่วมมือแก้ไขวิกฤติ ขาดแคลนกำลังคนด้านสาธารณสุข ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดมความร่วมมือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แก้ไขวิกฤติขาดแคลนกำลังคนด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือปัญหาสุขภาพให้ทันการ โดยขณะนี้ทั่วโลกขาดแคลนถึง 4.3 ล้านคน ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 6 ประเทศขาดแคลนอย่างหนัก ส่วนไทยได้จัดทำร่างแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 10 ปีแล้ว วันนี้ (28 ตุลาคม 2549) ที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุม “การพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 - 31 ตุลาคม 2549 โดยมีผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ผู้ปฏิบัติงานด้านการวางแผนนโยบายบุคลากรด้านสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการกำหนดนโยบายสุขภาพ จาก 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเชีย เนปาล บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อินเดีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ได้แก่ประเทศฟิจิ ซามัวร์ ปาปัวนิวกินี จำนวน 85 คน เข้าร่วมการประชุม เพื่อจัดตั้งกลไกและกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบกำลังคนด้านสุขภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก ให้มีประสิทธิภาพใน 2 ปีข้างหน้า นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้ของระบบสาธารณสุขมีศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพโลก ที่องค์การสหประชาชาติตั้งไว้ภายใน พ.ศ. 2558 โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกกำลังขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขถึง 4.3 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นแพทย์ พยาบาล และผดุงครรภ์ ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาสุขภาพได้ทั้งโรคติดต่อทั้งเก่าและใหม่ โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ความผิดปกติทางจิต ซึ่งต้องการการดูแลรักษาในโรงพยาบาลขั้นสูง และการดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้าน รวมทั้งมาตรการดูแลส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย หรือลดจำนวนผู้ป่วยให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ มีประชากรประมาณ 1,600 ล้านคน ขณะนี้มีบุคลากรสาธารณสุข 7 ล้านคนเศษๆ คิดเป็นอัตราส่วน 4 คนต่อประชากร 1,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 67 เป็นกลุ่มวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และผดุงครรภ์ โดยมี 6 ประเทศที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรกลุ่มนี้ในขั้นวิกฤติได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน อินโดนีเซีย พม่า เนปาล อินเดีย มีกำลังคนทั้งสิ้น 2,332,054 คน ต้องการเพิ่มอีกครึ่งหนึ่งหรือ 1,164,001 คน ประเทศที่ขาดแคลนมากที่สุดคือ บังคลาเทศ อินเดีย และอินโดนีเชีย นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ในส่วนของไทย จากการศึกษาปัญหากำลังคนด้านสุขภาพ พบว่า ระบบการผลิตและการพัฒนากำลังคนที่ผ่านมา ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง มีการกระจายกำลังคนไม่เหมาะสม บางพื้นที่บุคลากรต้องทำงานหนักมาก เช่นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพทย์และพยาบาลต้องดูแลประชาชนมากกว่ากทม.ถึง 10 เท่าตัว ในการแก้ไขปัญหา กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 – 2559 มีนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เป็นประธาน ขณะนี้ได้จัดทำร่างแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทย และผ่านการทำประชาพิจารณ์ระดับภาคและระดับชาติแล้ว สาระสำคัญของร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะมีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับระบบบริการสุขภาพและระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ปรับเปลี่ยนระบบการกระจายกำลังคน การรักษากำลังคนให้อยู่ในระบบ และการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ************************ 28 ตุลาคม 2549


   
   


View 7    28/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ