กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา เอไอเอส  ผนึกความร่วมมือทางวิชาการด้านข้อมูลอุตุนิยมวิทยากับโรคและภัยสุขภาพ ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อจากแมลง ผ่านแอปพลิเคชั่นอสม.ออนไลน์ พร้อมพัฒนาฟีเจอร์ให้ขยายการสำรวจได้มากกว่าเดิม เพื่อลดการเกิดโรคติดต่อนำโดยแมลงในประเทศไทย

วันนี้ (30 มิถุนายน 2565) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยากับโรคและภัยสุขภาพในประเทศไทย ระหว่างกรมควบคุมโรค และกรมอุตุนิยมวิทยา และการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างกรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ร่วมลงนาม

           นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับปัญหาโรคติดต่อนำโดยแมลงที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่แปรผันตามฤดูกาล (Seasonal Variation) โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนของทุกปี จากลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค ทำให้พบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินมาตรฐานเอื้อต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก ขณะเดียวกันข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2564 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (Dengue fever) 7,284 ราย พบมากสุดในเดือนมิถุนายน 1,172 ราย, พฤษภาคม 808 ราย, กรกฎาคม 763 ราย ตามลำดับ สำหรับในปี 2565 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 มิถุนายน 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 3,915 ราย การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาและการควบคุมโรค การพัฒนาบุคลากรทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง โดยเฉพาะยุงลายให้ลดและหมดไป ด้วยการตรวจจับการระบาดที่รวดเร็ว แจ้งเตือนโรคล่วงหน้า สามารถตอบโต้การระบาดได้ทันเวลา และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำคัญที่สุดคือ ลดอัตราการเกิดโรคติดต่อนำโดยแมลงในประเทศไทย

         ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก หรือโรคติดต่อนำโดยแมลง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และ อสม. ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ประชาชนดูแลตนเองและครอบครัวไม่ให้ป่วยด้วยโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยใช้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาช่วยในการเพิ่มทักษะด้านสุขภาพ เก็บข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่พบในชุมชนและในบ้าน เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ติดตามการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิดรวมถึงนำข้อมูลมาเชื่อมโยง วิเคราะห์ และคาดการณ์ เพื่อเฝ้าระวัง แจ้งเตือนการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ล่วงหน้า และเตรียมทรัพยากรในการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์

            นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า อสม. กว่า 1 ล้าน 4 หมื่นคนทั่วประเทศ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้งระยะก่อนเกิดโรค หลังการเกิดโรค และป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการใช้แอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวส่งเสริมสุขภาพของประชาชน การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกตามบริบทของพื้นที่ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้พัฒนาทักษะในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาไข้เลือดออกในพื้นที่ต่อไป

           ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา มีการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล ทั้งการตรวจวัดและการพยากรณ์ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการค้นหามากยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้บริการข้อมูลหรือหน่วยงานต่างๆ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านทาง API ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในส่วนของโรคไข้เลือดออกนั้นได้ประยุกต์ใช้ข้อมูลพยากรณ์ด้านอุตุนิยมวิทยา เช่น อุณหภูมิ น้ำฝน ความชื้น รวมไปถึงปัจจัยทางภูมิอากาศของโลก อาทิ ปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ช่วยบ่งชี้แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยายังสามารถบ่งชี้ถึงการเติบโตหรือคงอยู่ของยุงและไวรัส ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยแมลงอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในการป้องกันโรคและแจ้งเตือนโรคให้กับประชาชน

              นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้มุ่งนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยงานสาธารณสุขและดูแลสุขภาพของคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ให้เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มในการทำงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก ทำให้บุคลากรสาธารณสุขและ อสม. สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย เมื่อปี 2562 เพื่อสนับสนุนการทำงานของกรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีครัวเรือนในประเทศไทยได้รับการสำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แล้วกว่า 5 ล้านหลังคาเรือน รวมแล้วกว่า 1 ร้อยล้านครั้ง และข้อมูลจากแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดการการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือกับกรมควบคุมโรคและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพต่อเนื่องในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาฟีเจอร์ให้สามารถขยายการสำรวจได้มากกว่าเดิม โดยเพิ่มเติมการสำรวจในโรงเรียน โรงธรรม โรงแรม โรงงาน สถานที่ราชการ โรงพยาบาล เป็นต้น ช่วยยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 ******************************************** 30 มิถุนายน 2565

********************************************



   
   


View 830    30/06/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ