ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 16 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเผยสัดส่วนโอมิครอน BA.4/BA.5 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น พบประมาณ 51% แต่ยังไม่พบความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอาจมาจากการติดเชื้อที่มากขึ้น ขณะที่สัดส่วน BA.4/BA.5 ในผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายไม่ได้แตกต่างจากผู้ป่วยกลุ่มอื่น แม้กลุ่มตัวอย่างยังน้อย จึงขอให้โรงพยาบาลส่งตรวจมากขึ้น ย้ำสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยสู้กับเชื้อได้
วันนี้ (4 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิด 19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า จากการตรวจสายพันธุ์เบื้องต้นช่วงวันที่ 25 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2565 พบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% จำนวนนี้เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ครึ่งหนึ่งคือ 51.58% เพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์ก่อนที่พบจากประมาณ 6.7% และ 44.3% คาดว่าอีกไม่นานจะแทนที่ตัวเก่า BA.2 ซึ่งขณะนี้พบ 47.15% ส่วนผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เริ่มกลับมาพบมากขึ้นนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากเชื้อ BA.4/BA.5 ทำให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์ เนื่องจากตามปกติเมื่อมีการติดเชื้อมากขึ้น สัดส่วนของผู้ป่วยอาการหนักก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลตัวอย่างกลุ่มที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพื่อสำรวจภาพรวมของประเทศ จำนน 175 ราย เป็น BA.4/BA.5 ประมาณ 35.8% เมื่อแยกดูตามกลุ่มต่าง ๆ พบว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 44 ราย พบ 29.5% กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ 19 ราย พบ 29.5% และกลุ่มที่มีอาการรุนแรง 11 ราย
พบ 36.4% ก็จะเห็นว่าสัดส่วนไม่ได้แตกต่างกัน จึงยังไม่ปรากฏว่ามีความรุนแรงจาก BA.4/BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 เดิม เพียงแต่กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงยังมีตัวอย่างน้อย 11 ราย จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลส่งตรวจในกลุ่มคนไข้อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจมากขึ้น ก็จะทำให้ตัวเลขทางสถิติแม่นยำมากขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตยังไม่พบ BA.4/BA.5 ยังเป็น BA.2
“ย้ำว่ามาตรการส่วนบุคคลยังจำเป็น ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ เลี่ยงไปกิจกรรมสถานที่แออัด แม้ไม่ได้บังคับแต่ขอให้เป็นสุขนิสัย รวมถึงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอก็จะสู้กับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608” นพ.ศุภกิจกล่าว
************************************** 4 กรกฎาคม 2565
************************************