สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 734 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์โควิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อและป่วยหนักส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ห่วงหยุดยาวกระจายไปต่างจังหวัด ย้ำร่วมกันเข้มมาตรการ 2U กลุ่ม 608 ขอให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 3-4 เดือน หากติดเชื้อควรรีบพบแพทย์
วันนี้ (11 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และการเดินช่วงวันหยุดให้ปลอดภัย ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา พบการติดเชื้อและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นชัดเจนในบางจังหวัดที่มีการติดเชื้อมาก คือ กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยปอดอักเสบเพิ่มจาก 638 ราย เป็น 786 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นจาก 290 ราย เป็น 349 ราย แต่ทั้งหมดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ประกอบกับมีการคืนเตียงผู้ป่วยโควิดไปใช้รักษาโรคอื่น ทำให้อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่มีอัตราครองเตียงเกิน 25% ได้แก่ นนทบุรี 42.6% กทม. 38.2% ชัยภูมิ 30.5% ปทุมธานี 29.3% สมุทรปราการ 29.8% และนครสวรรค์ 26% จึงต้องปรับการบริหารจัดการเตียง
ทั้งนี้ การติดเชื้อจะเกิดขึ้นใน กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ก่อน แล้วค่อยกระจายไปจังหวัดเล็กจากเมืองกระจายไปชนบท ดังนั้น ช่วงวันหยุดยาวอาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดแพร่เชื้อไปต่างจังหวัดเร็วขึ้น จึงต้องช่วยกันชะลอการแพร่เชื้อ เพราะหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว จะมีผู้ที่ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอาจจะกระทบกับเตียงหรือยาที่ใช้ในการรักษาได้ ส่วนสัญญาณที่ทำให้ต้องมีการแจ้งเตือนและปรับเพิ่มมาตรการ คือ 1.ผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกิน 4 พันรายต่อวัน อาจต้องให้ใส่หน้ากาก 100% หรือเว้นระยะห่างมากขึ้น 2.ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 รายต่อวัน อาจต้องปรับมาตรการการรักษาและให้ยาเร็วขึ้น และ 3.ผู้เสียชีวิตเกิน 40 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงระดับการเตือนภัยระดับ 2
นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเอง โดยใช้มาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล และ Universal Vaccination คือ การฉีดวัคซีนโดยยังสามารถทำกิจกรรมรวมกลุ่มได้ เช่น การทำกิจกรรมทางศาสนา แต่ให้เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ อยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง 608 และหากผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 มีอาการป่วย ผลตรวจ ATK เป็นบวก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยา จะช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักได้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิต ช่วงวันที่ 3-9 กรกฎาคม 2565 จำนวน 132 ราย เป็นกลุ่ม 608 ถึง 97% และส่วนใหญ่ไม่รับวัคซีน หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงเสียชีวิตสูง คือ โรคไตเรื้อรัง มะเร็ง อ้วน หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ ประกอบกับช่วงนี้มีการระบาดมากขึ้นของสายพันธุ์ BA.4/BA.5 และมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อซ้ำ จึงขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ และผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย ควรมารับเข็มกระตุ้นทุก 3-4 เดือน เพราะหากเกินช่วงเวลาดังกล่าวภูมิคุ้มกันอาจ ไม่เพียงพอ ทำให้ป่วยหนักได้
************************************** 11 กรกฎาคม 2565