สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 734 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะกึ่งเฉียบพลันอย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่โรงพยาบาลจนถึงบ้าน เน้น “ส่งเสริม-ดูแล-ฟื้นฟู” โดยทีมบุคลากรสหวิชาชีพด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2565) ที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการสัมมนาระดับประเทศโครงการพัฒนารูปแบบบริการที่ไร้รอยต่อในระยะกึ่งเฉียบพลันสำหรับผู้สูงอายุ (The Project on Seamless Health and Social Services Provision for Elderly Persons : S-TOP) โดยมี ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนจากองค์กรสภาวิชาชีพ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่น บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการในพื้นที่นำร่องทั้ง 8 แห่ง และผู้รับผิดชอบงาน Intermediate care ใน 76 จังหวัด เข้าร่วมประชุมในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์กว่า 600 คน
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2541 โดยล่าสุดได้จัดโครงการพัฒนารูปแบบบริการที่ไร้รอยต่อในระยะกึ่งเฉียบพลันสำหรับผู้สูงอายุ มีแผนการดำเนินงาน 5 ปี ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 5 และจะสิ้นสุดโครงการ จึงจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ปัญหา อุปสรรคและร่วมพิจารณา/แสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระบบบริการไร้รอยต่อในระยะกึ่งเฉียบพลันสำหรับผู้สูงอายุเพื่อป็นองค์ความรู้นำไปต่อยอดในการปฏิบัติงานต่อไป
โดยโครงการพัฒนารูปแบบบริการที่ไร้รอยต่อในระยะกึ่งเฉียบพลันสำหรับผู้สูงอายุ เป็น 1 ในโครงการที่เกิดขึ้นจากการลงนามความร่วมมือฯ ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560-2565 ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในระยะกลาง (Intermediate care) เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองแตก ตั้งแต่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลจนถึงบ้านแบบไร้รอยต่อ เน้นการส่งเสริม-ดูแล-ฟื้นฟู มากกว่าการรักษา และให้บริการอย่างต่อเนื่องแบบองค์รวมโดยทีมบุคลากรสหวิชาชีพด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ นำร่องใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่เกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทั้งการส่งเสริมสนับสนุน ด้านบริหารจัดการ ด้านวิชาการ ด้านบริการ จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ อาทิ กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ, การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย, กิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ, พัฒนาบุคลากร เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ, ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ กว่า 10,000 คนทั่วประเทศ, อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ, เผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น
“ขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นและทุกภาคส่วน ที่สนับสนุนให้มีโครงการดีๆ และมีการแบ่งปันประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุ ถือเป็นโมเดลสำหรับการพัฒนาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ทำให้ผู้สูงอายุไทยมี “ภาวะสูงวัยสุขภาพดี” (Healthy Ageing) และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว
********************************** 20 กรกฎาคม 2565
**********************************