กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสอบสวนโรค “ผู้ป่วยฝีดาษวานร” รายแรกของประเทศไทย พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 รายแรก ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ย้ำองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก โอกาสแพร่เชื้อต่ำเว้นสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมีตุ่มหนอง

      วันนี้ (22 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 กำหนดอาการสำคัญคือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ มีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ แขนขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อโรคจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และเจ้าพนักงานควบคุมโรคต้องทำแผนปฏิบัติการโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์โรคหรือเหตุที่สงสัยอาจเกิดการระบาดขึ้น ทั้งนี้ จ.ภูเก็ตได้ดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวังมาต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีอาการต้องสงสัยเข้าได้กับฝีดาษวานร โดยมีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า ลำตัว แขนขา และอวัยวะเพศ จึงเก็บตัวอย่างไปส่งตรวจวิเคราะห์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบผลบวกต่อโรคฝีดาษลิง และส่งตรวจยืนยันซ้ำที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันผลตรงกัน ทีมสอบสวนโรคจึงรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยรายนี้ ทั้งทางคลินิก ระบาดวิทยา และผลตรวจห้องปฏิบัติการ เสนอคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ พิจารณาโดยละเอียดและประกาศยืนยันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ว่าเป็นโรคฝีดาษวานรรายแรกของประเทศไทย โดยเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีความรุนแรงน้อย

       “จากการสอบสวนโรคผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย ที่เป็นเพื่อนของผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ ส่งตรวจหาเชื้อไม่พบฝีดาษวานร แต่ต้องสังเกตอาการหรือกักตัวเป็นเวลา 21 วัน และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง เช่น สถานบันเทิงที่ไปใช้บริการ นอกจากนี้ทีมสอบสวนยังได้เข้าไปกำจัดเชื้อในห้องผู้ป่วยด้วย” นพ.โอภาสกล่าว

      นพ.โอภาสกล่าวว่า ประเทศไทยได้รายงานข้อมูลการพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรกไปยังองค์การอนามัยโลกตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2548 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก เนื่องจากไม่ได้เข้าเกณฑ์ เรื่อง ความรุนแรงสูง แพร่ระบาดได้ง่าย และต้องจำกัดการเดินทางการค้าระหว่างประเทศ โดยสถานการณ์ระดับโลกตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วยเพียง 12,608 ราย กระจาย 66 ประเทศทั่วโลก ไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว หากเทียบกับโควิดที่ในไม่เวลากี่เดือนพบผู้ติดเชื้อหลักล้านคน สำหรับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา ข้อมูลทางระบาดวิทยา ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วย และเชื่อว่าอาจเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์แต่ต้องรอองค์การอนามัยโลกยืนยันข้อมูลก่อน ส่วนการติดทางเดินหายใจไม่ใช่ลักษณะเด่นของโรคนี้

      นพ.โอภาสกล่าวว่า คณะกรรมการวิชาการฯ ให้แจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่สงสัยมีอาการเสี่ยงให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย สถานพยาบาลรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยทางคลินิก ทั้งผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยัน เพื่อให้องค์การอนามัยโลกรวบรวมข้อมูลในการออกคำแนะนำหรือมาตรการต่อไป มาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ยังใช้ได้กับโรคฝีดาษวานร โดยต้องเน้นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง ย้ำว่าต้องไม่ตีตราหรือลดทอนคุณค่าผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง ส่วนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ให้จัดระบบเฝ้าระวังคัดกรองสถานพยาบาลทุกแห่ง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันต่อไป การรักษาจะรักษาตามอาการ เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ส่วนวัคซีนที่มีการผลิตและเตรียมใช้มีหลายบริษัท กรมควบคุมโรคสั่งจองเบื้องต้นแล้ว ส่วนวัคซีนเดิม คือ วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox) ที่องค์การเภสัชกรรมเก็บไว้ อยู่ในขั้นตอนที่อาจจะนำมาใช้ได้ ต้องดูตามข้อบ่งชี้ คือ ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงวัคซีน และประเมินสถานการณ์การระบาด แต่ภาพรวมความจำเป็นการฉีดในวงกว้างยังไม่จำเป็น แต่อาจให้บางกลุ่มเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่สัมผัสเชื้อโรค เจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด เนื่องจากข้อมูลวัคซีนเดิมพบผลข้างเคียง ต้องพิจารณาดูผลดีผลเสียและความจำเป็นร่วมด้วย

********************************** 22 กรกฎาคม 2565

******************************

 



   
   


View 8466    22/07/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ