สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 738 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (8 สิงหาคม 2565) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลก และเดือนวันแม่แห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “Step up for Breastfeeding, Educate and Support : เสริมพลัง สร้างความรู้ ก้าวสู่วิถีนมแม่” โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย Aarti Saihjee ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประจำประเทศไทย ผู้แทนบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมงาน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยมุ่งรณรงค์ให้แม่และครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญ และมีทัศนคติที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานของการดำเนินชีวิตตั้งแต่ชั่วโมงแรกของเด็กและต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ซึ่งหากรากฐานของชีวิตเด็กมั่นคงทั้งใจและกายแล้ว จะทำให้ประเทศชาติสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
“จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2562 พบว่า มีทารกไทยเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ส่วนทารกที่ได้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยต่อเนื่องถึง 2 ปี มีร้อยละ 15 กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2568 ทารกร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งบุคคลที่มีชื่อเสียงในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน” ดร.สาธิตกล่าว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก เพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีคุณค่า เหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็ก นมแม่หยดแรกเปรียบเสมือนวัคซีนในการป้องกันโรคเพราะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นกระบวนการให้อาหารใจกับลูก เป็นการสร้างสายใยความผูกพันผ่านการสบตา การสัมผัส และการโอบกอดลูก และยังส่งผลดีต่อพัฒนาการทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะทุพโภชนาการของเด็ก รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและของประเทศ ที่สำคัญ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องธรรมชาติที่มอบให้ลูก เพื่อการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และมีรากฐานชีวิตที่แข็งแรงและมั่นคง
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา สถานบริการหลายแห่งมีนโยบายลดความแออัดในสถานพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และความวิตกกังวลของผู้รับบริการ ส่งผลต่อเวลาปฏิบัติงานในคลินิกนมแม่ และผู้ที่เข้ามารับคำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาล ซึ่งหากมีช่องทางให้แม่สามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อรับคำแนะนำและทักษะการเลี้ยงลูกตามวัย โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ต่อเนื่องและยาวนานมากขึ้น ในปี 2563 กรมอนามัยจึงร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการคำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แบบออนไลน์ และมีการพัฒนาช่องทางการให้บริการในปี 2564 ผ่านแอปพลิเคชัน Everyday Doctor โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด เพื่อให้แม่สามารถเข้าถึงบริการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ง่ายขึ้น สะดวก รวดเร็ว และทันกับความต้องการ ช่วยเสริมสร้างความรู้ ความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ด้าน Aarti Saihjee ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผลต่อการมีชีวิตรอด สุขภาพ ภาวะโภชนาการ และพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้ผลดีและคุ้มค่ามากที่สุด ที่จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพดี โดยเด็กที่ได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน จะมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ดีกว่า ซึ่งจะส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต การให้บริการปรึกษาปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมพลังในการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนนมแม่ผ่านนโยบาย และการดำเนินงานในทุกระดับ เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กทุกคนจะได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุดด้วยนมแม่
************************************ 8 สิงหาคม 2565
*******************************************