กระทรวงสาธารณสุข ชี้ภาคกลางโดยเฉพาะกทม.-ปริมณฑล เป็นศูนย์กลางการระบาดโรคไข้เลือดออก แนวโน้มขยายวงกว้างขึ้นภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน พบเชื้อเป็นสายพันธุ์ที่ 3 มากขึ้น เปิดอบรมเทคนิคการพ่นสารเคมีฆ่ายุงลาย ให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครในเขตกทม.ปริมณฑล เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ในเดือนที่ผ่านมาพบผู้ป่วยจำนวน 10,746 ราย เสียชีวิต 17 ราย ยอดสะสมปีนี้รวม 7 เดือนมีผู้ป่วย 47,577 ราย เช้าวันนี้ (15 สิงหาคม 2551) ที่ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการอบรมอาสาสมัครประชาชนจากชุมชน/คณะกรรมการชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 250 คน เพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก วงจรชีวิตของยุงลายซึ่งเป็นตัวการนำเชื้อโรคไข้เลือดออก และเทคนิคการใช้เครื่องพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย โดยมีการฝึกหัดการใช้เครื่องพ่นสารเคมีอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมยุงลายมีประสิทธิภาพ นายวิชาญกล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกในขณะนี้พบผู้ป่วยสูงกว่าปี 2550 ร้อยละ 39 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 10,746 ราย เสียชีวิต 17 ราย มียอดสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2551 ทั้งหมด 47,577 ราย เสียชีวิต 62 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง 23,060 รายหรือร้อยละ 48 รองลงมาภาคเหนือ 11,413 ราย ภาคใต้ 6,568 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6,536 ราย ส่วน กทม.พบ 4,354 ราย เสียชีวิต 7 ราย ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เมื่อวิเคราะห์เส้นทางการระบาดพบว่า มีศูนย์กลางการระบาดอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากมีคนอยู่หนาแน่น ประชากรต่างถิ่นเคลื่อนย้ายเข้า-ออกตลอดเวลา แนวโน้มขยายเป็นวงกว้างออกไปยังภาคเหนือตอนล่างและภาคใต้ตอนบน อีกทั้งยังพบอีกว่า เชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่สายพันธุ์ที่ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอาการรุนแรง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 20 คาดว่าอาจเกิดการระบาดเต็มพื้นที่ของประเทศในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2551 ได้ นายวิชาญกล่าวต่อว่า ได้สั่งการกำชับให้ทุกจังหวัดเร่งป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยทำควบคู่กันทั้ง 2 มาตรการ คือลดจำนวนยุงที่เกิดใหม่ โดยรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้าน และภาชนะขังน้ำที่อยู่รอบๆบ้านทุก 7 วัน และการพ่นสารเคมีภายในบ้านและบริเวณบ้านเพื่อกำจัดยุงลายตัวแก่ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนยุงลายอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ให้เน้นการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำ/แกนนำชุมชน และอาสาสมัครประชาชนอย่างใกล้ชิด ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทคนิคในการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย มีหลัก 4 ข้อ คือ 1.เลือกใช้เครื่องพ่นและหัวพ่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้น้ำยาเคมีปลิวไปสัมผัสตัวยุงให้มากที่สุด โดยเครื่องพ่นมี 2 ชนิด คือเครื่องพ่นหมอกควัน และเครื่องพ่นฝอยละเอียด 2.เลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดยุงที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยต่อคนและสัตว์เลี้ยง ซึ่งมี 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) จะออกฤทธิ์ในการกำจัดยุงทันที และกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) ออกฤทธิ์ทำให้ยุงสลบ เป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว และตายภายหลัง ที่สำคัญจะต้องศึกษาว่ายุงในพื้นที่นั้นๆ มีการดื้อสารเคมีตัวใดบ้างหรือไม่ 3.พ่นให้ตรงเวลาที่ยุงลายออกหากินคือ 9–10 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ลมสงบ อากาศไม่ร้อนมาก เพื่อให้สารเคมีสัมผัสตัวยุงได้ดีและไม่เกิดการสลายตัวจากความร้อนในอากาศ และต้องพ่นให้ถูกแหล่ง คือภายในบ้าน แต่ในขณะนี้ส่วนใหญ่ยังพ่นไม่ถูกต้อง โดยมักเน้นพ่นตามท่อระบายน้ำ พุ่มไม้ ป่าหญ้า กอหญ้ารอบ ๆ บ้าน ซึ่งเป็นยุงรำคาญ ไม่นำโรคไข้เลือดออก แต่ยุงลายที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก ที่อาศัยและหากินอยู่ภายในบ้านกลับไม่ได้ถูกกำจัด มีการศึกษาพบว่ายุงลายร้อยละ 67 ชอบเกาะบนเสื้อผ้าที่ห้อยแขวนในบ้าน ร้อยละ 16 เกาะตามมุ้งและเชือกมุ้ง ร้อยละ 6 เกาะที่ราวและสายไฟ ร้อยละ 4 เกาะตามเครื่องเรือน ส่วนตามฝาบ้าน ภาชนะ และวัสดุต่าง ๆ พบเพียงใกล้เคียงกันคือร้อยละ 3 เท่านั้น ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเกิดขึ้นในชุมชน จะต้องรีบพ่นสารเคมีที่ภายในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้านผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียงในรัศมี 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ยุงลายสามารถบินได้ ภายใน 24 ชั่วโมงที่ได้รับแจ้ง พ่นติดต่อกัน 2 ครั้งห่างกัน 7 วัน และต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายไปพร้อมกันด้วย นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว ******************************** 15 สิงหาคม 2551


   
   


View 8    15/08/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ