กระทรวงสาธารณสุขจัดบริการ “นวดไทย” ให้บริการผู้เข้าร่วมประชุมเอเปคระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคมนี้ แบ่งเป็นนวดคอ บ่า ไหล่ วันละ 40 คน และนวดเท้าวันละ 40 คน ชูเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ช่วยรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม ขณะที่ “สมุนไพร” ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นตัวอย่างชัดเจนของไทยตอบโจทย์สาธารณสุขคู่เศรษฐกิจ

          นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงการจัดงานประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยการสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้รับมอบหมายในการจัดบูธนิทรรศการเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย การนำสมุนไพรมาใช้ทางการแพทย์ และการสาธิตการนวดแผนไทยภายในงาน ซึ่งจัดให้บริการนวดคอ บ่า ไหล่ และนวดเท้าให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 10 เตียง ได้แก่ นวดคอ บ่า ไหล่ จำนวน 5 เตียง รองรับได้ 40 คนต่อวัน และนวดเท้า 5 เตียง รองรับได้ 40 คนต่อวัน โดยมีการจัดสถานที่นวดเป็นสัดส่วน มีฉากกั้นระหว่างเตียง และจัดบริการบนมาตรฐานความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 โดยผู้ให้บริการและผู้รับบริการจะสวมหน้ากากอนามัย มีการทำความสะอาดก่อนและหลังรับบริการ เป็นต้น

          นพ.ยงยศกล่าวว่า ในการประชุมเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจนั้น เรานำเสนอเกี่ยวกับบริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในการดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพแล้ว ยังสร้างมูลค่าด้านเศรษฐกิจสูง ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของการเดินหน้าสร้างสุขภาพและสร้างเศรษฐกิจควบคู่กันให้แก่ประเทศไทย อย่างนวดไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การยูเนสโกตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2562 ถือเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่ต่างชาติให้ความสนใจและนิยมมารับบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีทั้งการนวดไทยเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และการนวดไทย เพื่อการรักษาโรค เช่น โรคกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหรือโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งในทางแพทย์แผนไทยเรียกว่า โรคลมปลายปัตฆาต เป็นโรคลมชนิดหนึ่งที่ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เลือดคั่งและแข็งตัวบริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและริมหัวต่อกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ แข็งเป็นก้อนเป็นลำตามแนวมัดกล้ามเนื้อ ซึ่งการนวดจะช่วยบรรเทาอาการ

          “ข้อห้ามในการนวด ได้แก่ 1.มีไข้เกิน 38.5 องศาเซลเซียส 2.ไข้พิษ ไข้กาฬ เช่น อีสุกอีใส งูสวัด 3.โรคผิวหนังที่มีการติดต่อ 4.โรคติดต่อ เช่น วัณโรค  5.ไส้ติ่งอักเสบ 6.กระดูกแตกหัก ปริ ร้าวที่ยังไม่ติดสนิท 7.มีภาวะผิดปกติของเลือด เช่น เลือดไม่แข็งตัว 8.มีภาวะอักเสบ ติดเชื้อ บวม แดง ร้อน และ9.หลังได้รับอุบัติเหตุ ส่วนข้อควรระวังในการนวด ได้แก่ สตรีมีครรภ์ ใส่อวัยวะเทียมหลังผ่าตัดกระดูก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้มีภาวะข้อต่อหลวม กระดูกพรุน ผู้ที่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ภายใน 30 นาทีก่อนนวด ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่าการนวดคอ บ่า ไหล่ เพียงอย่างเดียว สามารถลดความปวดกล้ามเนื้อและความตึงตัวของกล้ามเนื้อได้เหมือนกับกลุ่มที่รับประทานยาแก้ปวดผสมยาคลายกล้ามเนื้อ หรือกลุ่มที่รับประทานยาร่วมกับการนวด นั่นหมายความว่า การนวดไทย สามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและสามารถคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการบรรเทาอาการ” นพ.ยงยศกล่าว

          นพ.ยงยศกล่าวในตอนท้ายว่า สมุนไพรสามารถช่วยสร้างสุขภาพและเศรษฐกิจไทย โดยการต่อยอดเป็นสมุนไพรและผลิตภัณฑ์คุณภาพ ตั้งแต่ปี 2560 กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ผลักดันสมุนไพร 12 รายการเป็น Herbal Champion ได้แก่ กวาวเครือขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชายขาว พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน ว่านหางจระเข้ และไพล รวมถึงขณะนี้ประเทศไทยผลักดันกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพและสร้างเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐานในภูมิภาค ก้าวเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมสมุนไพรของโลก คาดว่าปี 2565 จะเกิดการสร้างรายได้จากการพัฒนาสมุนไพร การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประมาณเกือบ 78,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จัก สำหรับการจัดประชุม APEC ครั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงได้จัดทำของที่ระลึกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมไทย น้ำมันหอมระเหย และเครื่องสำอาง เพื่อมอบให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ คู่สมรส วิทยากร และผู้เข้าร่วมประชุม

************************************ 17 สิงหาคม 2565

 

*************************************************

 



   
   


View 1431    17/08/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ