สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 744 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินอัจฉริยะ และหอผู้ป่วยวิกฤต อาคารนวมินทรราชประชาภักดี โรงพยาบาลลำปาง เผยมีการพัฒนาการให้บริการประชาชนด้วยหลัก EMS สภาพแวดล้อมดี มีความทันสมัย และใช้ระบบดิจิทัล ช่วยลดแออัด ลดรอคอย ลดภาระงาน เกิดประโยชน์ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
วันนี้ (19 สิงหาคม 2565) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ร่วมพิธีเปิดห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินอัจฉริยะ และหอผู้ป่วยวิกฤต อาคารนวมินทรราชประชาภักดี โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยมี นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายแพทย์ประเสิรฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ โสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปาง และคณะ ให้การต้อนรับ
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า โรงพยาบาลลำปางได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน และผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วทันเวลา รวมถึงเตรียมพร้อมรองรับโรคอุบัติใหม่และโรคระบบทางเดินหายใจ โดยปรับระบบการทำงานภายใต้หลัก EMS ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ E-Environment ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดี เหมาะสม ทำให้เกิดการผ่อนคลาย, M-Modernizations ปรับองค์กรให้มีความทันสมัย มีความปลอดภัย และ S-Smart service ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ในรูปแบบดิจิทัลให้บริการประชาชน ช่วยลดแออัด ลดรอคอย ลดภาระงานของผู้ปฏิบัติงาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงให้บริการด้วยหัวใจ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้รับบริการ เกิดประโยชน์ต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินอัจฉริยะ มีการปรับระบบการทำงานให้อยูในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้พร้อมบริการผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยหนักอย่างครบวงจร มีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย จัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์ด้วยระบบดิจิทัล สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนการจัดงานบริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การบันทึกข้อมูลจากเครื่องติดตามการทำงานของสัญญาชีพในระบบ Smart ER โดยอัตโนมัติ และพัฒนาต่อยอดการดูแลผู้ป่วยในจังหวัด ให้เป็น One Province Once ER เป็นการช่วยลดขั้นตอน ความซ้ำซ้อน ข้อมูลผู้ป่วยสามารถถึงมือแพทย์ พยาบาล ที่ให้การดูแลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สำหรับหอผู้ป่วยวิกฤต อาคารนวมินทรราชประชาภักดี ประกอบด้วย ICU อุบัติเหตุ 14 เตียง, ไอซียู ศัลยกรรมประสาท 10 เตียง และไอซียูทั่วไป 10 เตียง รองรับผู้ป่วยวิกฤตที่มีภาวะล้มเหลวของอวัยวะสำคัญหลายระบบ นอกจากนี้ ยังมีห้องความดันลบ 3 ห้อง สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด 19 และโรคอุบัติใหม่ โรคระบบทางเดินหายใจ และสามารถปรับไอซียูให้เป็นห้องความดันลบได้ถึง 34 เตียง
“ขอชื่นชมโรงพยาบาลลำปางที่มีการพัฒนาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ สัมพันธ์ทั้งการพัฒนาโครงสร้างให้ทันสมัย สวยงาม ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพของประชาชน มีความกระตือรือร้น ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
************************************ 19 สิงหาคม 2565
*******************************